สนข.ย้ำ! เดินหน้าพัฒนขนส่งทางราง ยึด 'สถานีบางซื่อ' ศูนย์กลางใหญ่
สนข.ย้ำ! เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งทางรางครอบคลุมทุกเส้นทางภายใต้ยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ยึด "สถานีบางซื่อ" ศูนย์กลางใหญ่ จ่อเพิ่มอาคารจอดแล้วจรหลายจุดเพิ่มประสิทธิภาพ หวังแก้ภาพคนกรุงใช้รถส่วนตัว แก้มลพิษ และความเลื่อมล้ำ
นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กระทรวงคมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ"เชื่อมราง เชื่อมรถ เชื่อมคน ลดเหลื่อมล้ำ เข้าถึงคมนาคมไร้รอยต่อ" ในงานสัมนา "พลิกโฉมไทย เปิดประตูสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม" จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติแนนตัลว่า ในอดีตยอมรับประเทศไทยมีความล้มเหลวในเชิงระบบขนส่งสาธารณะ ประชาชนมีข้อจำกัดในการเดินทางอย่างมาก เนื่องจากขนส่งหลัก คือระบบรางดั้งเดิมอย่างรถไฟ มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก่อให้เกิดค่านิยมใช้รถยนต์ส่วนตัว และนำมาซึ่งปัญหาการจราจรแออัด พร้อมกับขนส่งใหม่ๆตามมา ทั้งรถตู้โดยสาร รถร่วมเอกชน หรือแม้แต่มอเตอร์ไซต์รับจ้าง ซึ่งยากต่อการจัดระบบและระเบียบ ทั้งยังมีผลเสียเรื่องมลภาวะ และยังไม่ตรงกับความต้องการแท้จริงของประชาชนที่อยากมีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก ตรงเวลา ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผล จนกลายเป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐ กำหนดภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป้าหมายสูงสุด คือ การพัฒนาระบบขนส่งที่ต้องปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคนทุกกลุ่มสามารถใช้ประโยชน์ได้ ผ่านนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน 3 ส่วน ดังนี้
1. การพัฒนาขนส่งสาธารณะที่ตอบโจทย์การเดินทางในเมือง เพื่อหยุดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ผ่านรถไฟฟ้าสายต่างๆ มากกว่า 10 สาย
2.การพัฒนาขนส่งสาธารณะสำหรับการเดินทางระหว่างเมือง ผ่านโครงการรถไฟรางคู่
3.การพัฒนาขนส่งสาธารณะสำหรับใช้เชื่อมต่อภูมิภาค ผ่านโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง
นายชยธรรม์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนารถไฟฟ้ารองรับการขนส่งของคนเมืองนั้น ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าเปิดใช้บริการรวมแล้ว 4 สาย 120 กิโลเมตร สายสีเขียว (หมอชิต-แบริ่ง คนใช้บริการ 7 แสนคน),สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง -บางซื่อ คนใช้บริการ 4 แสนคน),สายสีม่วง (บางซื่อ-เตาปูน ) และแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ปัจจุบันมีคนใช้บริการมากกว่า 7.5 หมื่นคน ซึ่งอยู่ระหว่างแก้ปัญหาเพื่อให้ขบวนรถเพียงพอกับความต้องการ ขณะเดียวกันในอนาคต จะมีการทยอยเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง
"จากนี้ไปทุกๆปี จะมีการทยอยเปิดเส้นทางใหม่ ประชาชนออกจากบ้านทุกๆ 1 กิโลเมตร ต้องเจอสถานีรถไฟฟ้า รัฐกำลังเดินหน้าก่อสร้างอีก 173 กิโลเมตร หลายสายเตรียมเปิดให้บริการช่วงปีนี้และปีหน้า" นายชยธรรม์ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับระบบขนส่งระหว่างเมือง เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนและอำนวยความสะดวกในแง่การส่งสินค้าในหลายเมือง เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช และภูเก็ต เป็นต้น ผ่านการพัฒนารถไฟรางคู่ เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าการสับเปลี่ยนรางที่เกิดขึ้นกับรางเดียวในปัจจุบันนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ใน 5 เส้นทาง เช่น ช่วงฉะเชิงเทรา-แก่งคอย, จิระ-ขอนแก่น และอยู่กำลังศึกษารูปแบบการดำเนินการอีก 9 เส้นทาง เช่น เส้นทาง นครปฐม หัวหิน เป็นต้น เช่นเดียวกับนโยบายการพัฒนา รถไฟฟ้าความเร็วสูง เพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีระบบขนส่งหลายเส้นทางเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีศูนย์กลางการเชื่อมต่อ จึงก่อให้เกิดโครงการ สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดปลายปี 2563 จะแล้วเสร็จ ซึ่งจะประกอบไปด้วยอาคาร 3 ชั้น รวม 24 ชานชาลา รองรับการวิ่งเข้ามาของรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟเชื่อมระหว่างเมือง และรถไฟฟ้าความเร็วสูง
"แผนนโยบายข้างต้น จะมีสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทุกระบบขนส่ง ทั้งรถไฟฟ้ากระจายไปในเส้นทางต่างๆของเมือง และจุดตัดรถไฟฟ้าระหว่างเมือง รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูงด้วย"
ขณะเดียวกัน สนข. ยังย้ำว่า รัฐยังให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ และแต่ละสถานีใหญ่ๆด้วย เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ และไลฟ์ไตล์ของประชาชน ทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์ ที่สำคัญคือการเพิ่มอาคารจอดแล้วจร 11 จุด เส้นทางสกายวอร์ค และไบร์เลน รวมถึงการจัดสรร ปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถของรถเมล์ทั่วไป ที่จากอดีตวิ่งออกเมือง ให้วิ่งเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อเป็นตัวเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชน รวมถึงเส้นทางลักษณะเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการด้วย หวังลดความเลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
"ภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องไม่เห็นการขับรถมากองกันอยู่บนถนน ประชาชนจะใช้ระบบขนส่งเป็นหลัก ออกจากบ้านขับรถมาจอดในอาคารจอดรถ ก่อนแยกกันไปคนละเส้นทาง" นายชยธรรม์ กล่าว