ไอลอว์ยื่นขอดูรายชื่อ 'ว่าที่ ส.ว.' จาก คสช. และกกต. ก่อนเลือกตั้ง

ไอลอว์ยื่นขอดูรายชื่อ 'ว่าที่ ส.ว.' จาก คสช. และกกต. ก่อนเลือกตั้ง

ไอลอว์ยื่นขอดูรายชื่อ 'ว่าที่ ส.ว.' จาก คสช. และกกต. ก่อนเลือกตั้ง

โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (11 มีนาคม 2562) เวลาประมาณ 11.30 น. ไอลอว์เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อยื่นคำร้องกับเลขาธิการสำนักงาน กกต. ซึ่งเจ้าหน้าที่งานสารบรรณ ของ กกต. ได้รับหนังสือไว้ พร้อมแจ้งว่าจะยื่นให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่อไป และให้โทรมาติดตามอีกครั้งในวันถัดไป แต่ก็แนะนำว่าเอกสารที่ต้องการนั้นเป็นของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่ง คสช. เป็นคนแต่งตั้ง จึงควรไปขอกับ คสช. เอง

ต่อมาเวลาประมาณ 13.00 น. ไอลอว์จึงได้เดินทางต่อไปยังกองบัญชาการกองทัพบก โดยหวังว่าจะไปยื่นคำร้องกับเลขาธิการ คสช. ที่ส่วนอำนวยการ สำนักเลขาธิการ คสช. แต่เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ทหารได้แนะนำให้ไปยื่นเรื่องต่อ “ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่รัฐประพฤติมิชอบ” ของ คสช. แทน

เจ้าหน้าที่ทหาร ผู้ดูแลศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ของ คสช. กล่าวว่า ปกติเขารับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนเกี่ยวการทุจริตของข้าราชการ และแนะนำว่าให้ไปยื่นคำร้องที่ทำเนียบรัฐบาล หรือกับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จะดีกว่า เพราะที่นี่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการสรรหา ส.ว.

แต่เมื่อเรายืนยันว่า คสช. เป็นหน่วยงานที่แต่งตั้ง ส.ว. สุดท้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ก็รับคำร้องเอาไว้ และแจ้งว่าเขามีหน้าที่ส่งเรื่องเท่านั้น กระบวนการหลังจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ระดับที่สูง ซึ่งเขาไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร

และถามต่อว่าจะไปยื่นเอกสารกับ คสช. หรือส่วนอำนวยการ สำนักเลขาธิการ คสช. ได้ที่ใด เจ้าหน้าที่ทหารก็ตอบเพียงว่า ส่วนอำนวยการดังกล่าวไม่ได้ให้ประชาชนเข้าไปติดต่อได้

เมื่อยังไม่สามารถยื่นคำร้องต่อ คสช. ได้โดยตรง ไอลอว์จึงเดินทางต่อไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นคำร้องต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ซึ่งเมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ได้แนะนำว่าให้ติดต่อกับ “ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล” ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องฯ ของรัฐบาล ตอบว่า ให้ยื่นเรื่องต่อกองบัญชาการกองทัพบก เพราะ คสช. อยู่ที่นั้น แต่เมื่อตอบไปว่าได้ไปยื่นเรื่องที่นั้นมาแล้ว จะขอยื่นคำร้องที่นี้อีกที่ได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ควรทำเช่นนั้น แต่ถ้าทางศูนย์รับเรื่องร้องเรียนฯ ของ คสช. ที่กองบัญชาการกองทัพบกไม่ตอบรับคำร้องภายใน 15 วัน ให้มายื่นคำร้องกับทางศูนย์รับเรื่องฯ ของรัฐบาล เพื่อทำการเร่งรัดให้ได้

สำหรับการยื่นขอเอกสารการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เนื่องจากว่า ผู้อำนาจในรัฐบาล คสช. ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนตรงกันว่าจะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. และรายชื่อว่าที่ ส.ว. ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางไอลอว์เห็นว่าการสรรหา ส.ว. เป็นเรื่องที่ควรเปิดเผยได้ เพราะ ส.ว. จะมีบทบาทสำคัญหลังการเลือกตั้ง คือ ส.ว. สามารถร่วมกับ ส.ส. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และบทบาทอื่นหลังจากนั้น เช่น การควบคุมให้รัฐบาลทำตามยุทธศาสตร์ชาติ หรือ การยินยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อประชาชน การเปิดเผยที่มาและกระบวนการสรรหา ส.ว. ทั้งหมดให้มีความโปร่งใสจึงมีความสำคัญ เพื่อให้ประชาชนเห็นหน้าคร่าตา และสามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทั้งนี้ ขั้นตอนการเลือก ส.ว. ของ คสช. คือ

1) คสช. เลือก ส.ว. ให้เหลือ 50 คน และรายชื่อสำรองอีก 50 คน กกต. จากจำนวน 200 คน ที่ กกต. ได้จัดให้มีการเลือกระหว่างกลุ่มอาชีพ ไปตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562

2) คสช. เลือก ส.ว. ให้เหลือ 194 คน และรายชื่อสำรองอีก 50 คน จากจำนวน 400 คน ที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เป็นผู้คัดเลือก

สำหรับการประกาศผล ส.ว. รัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช. คัดเลือก ส.ว. ให้เสร็จภายใน 3 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกราษฎร (ส.ส.) โดยคาดว่าอย่างช้าที่สุดในวันที่ 26 พฤษภาคม 2562

IMG_0800

IMG_0799