คลังปลื้มธุรกรรม 'อีเพย์เม้นท์' พุ่ง
ยุทธศาสตร์ "เนชั่นแนลอีเพย์เม้นท์" สดใส คลังปลื้มยอดธุรกรรมพุ่ง ลงทะเบียนพร้อมเพย์ 46.5 ล้านราย
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
โครงการที่ 1 ระบบการชำระเงินแบบ Any ID และโครงการที่ 2 การขยายการใช้บัตร โดยโครงการที่ 1 และโครงการที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศไทยให้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย และเป็นช่องทางในการจ่ายเงินสวัสดิการจากภาครัฐสู่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำแทนการใช้เงินสด
ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ทุกประเภทแล้ว จำนวน 46.5 ล้านราย และมีปริมาณธุรกรรมทั้งสิ้น 1.1 พันล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมทั้งสิ้น 5.8 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2561) และได้มีการติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง Electronic Data Capture : EDC) แล้วทั้งสิ้นจำนวน 768,103 เครื่อง
การดำเนินการในระยะต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 – 2564) โดยมุ่งส่งเสริมให้ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินและสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม และตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วน
โครงการที่ 3 ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนในการจัดทำ รวมทั้งการนำส่งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินและการนำส่งภาษีเมื่อมีการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment
ทั้งนี้กรมสรรพากรได้ดำเนินการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านพร้อมเพย์แล้ว ในปีภาษี 2560 และมีการจัดทำระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt ซึ่งได้เปิดให้บริการแล้วในปี 2560 นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561
การดำเนินการในระยะต่อไป กรมสรรพากรจะดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เสียภาษีเพื่อการบริการที่ดีและการแนะนำการเสียภาษีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
โครงการที่ 4 e-Payment ภาครัฐ ประกอบด้วยโครงการย่อย 2 โครงการ 1.โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลกลางในการดูแลให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมแก่ประชาชน เพื่อบูรณาการจัดระบบการแจ้งสิทธิ การตรวจสอบสิทธิสวัสดิการสังคม การประเมินและตรวจสอบการใช้สิทธิสวัสดิการสังคมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นซึ่งกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมผ่านบัตร โดยเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว ในปี 2560 และปัจจุบันมีผู้มีสิทธิที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวนทั้งสิ้น 14.5 ล้านราย
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมด้วยพร้อมเพย์ จำนวน 6 สวัสดิการ ประกอบด้วย (1) เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (2) เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (3) เบี้ยความพิการ (4) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (5) เงินเดือนทหารกองประจำการ และ (6) ค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2562) และจะขยายไปยังสวัสดิการอื่นๆต่อไป
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้หน่วยงานราชการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 7,200 หน่วยงาน ใช้บริการด้านการจ่ายเงิน การรับเงินและการนำเงินส่งคลัง ผ่านระบบ Internet Banking ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ระบบ KTB Corporate Online สำหรับภาครัฐ)
การดำเนินการในระยะต่อไป กรมบัญชีกลางจะผลักดันให้เกิดการขยายการใช้บัตรอย่างครบวงจรและการขยายฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยบูรณาการข้อมูลกับกระทรวงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์และประเมินผลการจัดสวัสดิการ นอกจากนี้ จะเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานใช้งานระบบ e-Payment ทั้งการชำระและรับชำระเงินผ่านช่องทาง KTB Corporate Online เครื่อง EDC และ QR Code ให้เต็มประสิทธิภาพ
โครงการที่ 5 การให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงการคลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประชาสัมพันธ์ ธปท. สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด เป็นต้น ในการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้และประชาสัมพันธ์โครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment โดยได้มีการจัดทำแผ่นพับประชาสัมพันธ์ การจัดทำ VDO Infographic เพื่อเผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์และ Social Media การจัดให้มี Website หลักของโครงการ (www.epayment.go.th) และจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดทำโครงการแจกโชคจากการใช้บัตรเดบิต เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนชำระเงินโดยใช้บัตรเดบิตหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านเครื่อง EDC มากขึ้น โดยได้มีการจ่ายเงินรางวัลไปแล้วทั้งสิ้น 69.9 ล้านบาท ให้กับผู้ได้รับรางวัล จำนวน 8,872 ราย ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณบัตรเดบิตเพิ่มขึ้นเป็น 62 ล้านใบ ปริมาณธุรกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิตและมูลค่าการใช้บัตรในช่วงที่ดำเนินโครงการอยู่ที่ 80.2 ล้านรายการ และ 148,975 ล้านบาท ตามลำดับ
การดำเนินการในระยะต่อไป กรมสรรพากรและกรมบัญชีกลางจะดำเนินการตามแผนประชาสัมพันธ์โครงการ National e-Payment ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยแผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์การปรับปรุงรูปแบบการให้บริการของภาครัฐที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) มากขึ้น และสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีที่ถูกต้องแก่ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้ใช้ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากความสำเร็จในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ทั้ง 5โครงการข้างต้น ได้เป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถผลักดันและพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยภายใต้กรอบภารกิจของตนเองให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างครบวงจร ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบให้ยุติบทบาทของคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการในระยะต่อไป (ภาพ-fpo.go.th)