“ดีมันนี่”รุกธุรกรรมโอนเงินดิจิทัลเต็มสูบ

“ดีมันนี่”รุกธุรกรรมโอนเงินดิจิทัลเต็มสูบ

“ดีมันนี่” เล็งระดมทุนเพิ่ม150ล้านบาทผ่านเวนเจอร์แคปปิตอลต่างชาติ รองรับการขยายธุรกิจพลิกโฉมบริการโอนเงินยุคดิจิทัล และขยายตลาดสู่ภูมิภาค พร้อมกางแผนปีนี้ ต่อยอดบริการบนแอพฯเปิดบริการยืนยันตัวตนe-KYC และ e-wallet หนุนเป้า5ปีมีลูกค้าแตะ1ล้านราย ช่วง7เดือนมานี้ยอดลูกค้าโต13%ยอดธุรกรรมการโอนเงินโตกว่า30%

นายอัศวิน พละพงศ์พาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการด้านการเงินระหว่างประเทศทั้งรับโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินตรา ภายใต้แบรนด์ “ดี มันนี่” เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรทางธุรกิจในกลุ่มเวนเจอร์แคปปิตอลต่างชาติที่มีลักษณะธุรกิจคล้ายคลึงกับบริษัท เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย สหรัฐ และยุโรป เพื่อระดมทุนรองรับการขยายธุรกิจตามเป้าหมาย ในเบื้องต้นคาดว่าต้องการเงินระดมทุนประมาณ150ล้านบาท ในระยะ2ปี รองรับการพัฒนาธุรกิจตามเป้าหมาย โดยเตรียมเข้าร่วมงาน Money 20/20 งานประชุมด้านชำระเงินและบริการทางการเงินชั้นนำของโลกที่สิงคโปร์ในช่วงเดือนมี.ค.2562 ถือเป็นการเปิดโอกาสที่ดีและขยายตลาดสู่ภูมิภาค 

ขณะที่แผนการขยายธุรกิจในปีนี้ บริษัทเดินหน้าบริการธุรกรรมทางการเงินโอนเงินระหว่างประเทศแบบดิจิทัลบนแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ ด้วยกฏระเบียบใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท. )ที่อนุญาตให้มีการลงทะเบียนลูกค้านอกสถานที่ได้ ผ่านรูปแบบการแสดงยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์(e-KYC) จะเริ่มให้บริการภายในเดือน เม.ย.นี้ หลังจากได้เปิดตัวบริการ “ดี มันนี่”บนแอพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

รวมถึงเตรียมขยายบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) หรือดีมันนี่ วอลเลต เป็นอีกช่องทางหนึ่งให้ลูกค้าสามารถโอนเงินมาพักไว้ก่อนโอนเงิน  ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎระเบียบ คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปีนี้และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับทุกวอลเลตในอนาคต

ขณะเดียวกันบริษัทยังเตรียมขยายธุรกิจตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ (Money Transfer Agent License) หรือแบงก์กิ่งเอเย่นต์ ในช่วงแรกจะเปิดจุดบริการร่วมกับร้านค้าแลกเปลี่ยนเงิน จำนวน 5,000 จุดทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตจาก ธปท. 

นอกจากนี้  ภายในสิ้นปีนี้ ยังมีแผนขยายสาขาอีก 10 สาขาทั่วประเทศ เช่น พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต เกาะสมุย และอุดรธานี จากปัจจุบันมี4สาขา ในกรุงเทพฯและมหาชัย อีกทั้งขยายพันธมิตรผู้ประกอบการธุรกิจโอนเงินและธนาคาร ให้ครบคลุม40ประเทศ จากปัจจุบันมีพันธมิตรทั้งสิ้น17ประเทศ พร้อมกับต่อยอดฐานลูกค้ากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมาใช้บริการโอนเงินดังกล่าว อาจจะเริ่มจากไทยไปสิงคโปร์  ส่วนทางด้านบริการโอนเงินสกุลดิจิทัล อยู่ระหว่างการศึกษาและคงรอตลาดพร้อมมากกว่านี้ก่อน

อย่างไรก็ตาม บริการโอนเงินระหว่างประเทศของบริษัททั้งผ่านช่องทางสาขาและโมบายแอพพลิเคชั้น ยังคงจุดเด่น อัตราค่าธรรมเนียมในราคาถูกเพียง 150 บาท ทำให้ลูกค้าประหยัดค่าธรรมเนียมถึง80%เมื่อเทียบกับการโอนผ่านธนาคาร และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลงหรือต่ำกว่าธนาคาร ถึง34 สกุลเงิน อีกทั้งยังมีโปรโมชั่นร่วมกับพันธมิตรให้กับลูกค้าเพิ่มเติมด้วย 

นายอัศวิน กล่าวด้วยว่า บริษัทยังคงวางเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะขยายฐานลูกค้าถึง1ล้านราย โดยเป็นลูกค้าผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ สัดส่วน70% อีก30% มาจากช่องทางสาขาและร้านค้า มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ 5 ล้านคน  มีมูลค่าการโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินทั้งสิ้น 170,000ล้านบาท ซึ่งการโอนเงินจะเป็นสัดส่วนหลักและคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตกว่าเท่าตัวในแต่ละปี  จากกลุ่มแรงงานต่างด้าวจากประเทศลาว กัมพูชา และพม่า โดยไม่ผ่านระบบธนาคาร รวมถึงแรงงานต่างชาติคุณภาพซึ่งทำงานอยู่ในประเทศไทย ผู้ย้ายถิ่นฐาน 300,000คน และนักท่องเที่ยวและคนไทยในประเทศอีก30ล้านคนด้วย  

หลังจากเปิดตัวแอพฯดังกล่าวเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ช่วง7เดือนที่ผ่านมานี้ (ก.ค.2561-ม.ค.2562) มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น 13% โดยมีลูกค้าผู้ใช้แอพฯประมาณ 10,000 ราย และยอดธุรกรรมโอนเงินเพิ่มขึ้นมากกว่า 30%  มียอดธุรกรรมโอนเงินต่อเฉลี่ย 30,000 กว่าบาทต่อรายต่อครั้ง  และลูกค้าจะโอนมากกว่า2ครั้งต่อเดือน

“ลูกค้ารายย่อยของเราสัดส่วน60%ย้ายไปโอนเงินบนแอพฯ และแต่ละครั้งมียอดธุรกรรมโอนเงินเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เช่น ลูกค้าเข้ามาลองใช้ครั้งแรกผ่านสาขา ยอดโอนเงิน10,000บาท ครั้งต่อไปเพิ่มขึ้นเป็น300,000-500,000บาท จากที่เรากำหนดยอดโอนเงินที่จำนวน 1,000-800,000บาทต่อวัน”