"กม.อากาศสะอาด" ประสบการณ์จากอเมริกา
วงเสวนา ถอดประสบการณ์ กฎหมายอากาศในอเมริกา ชี้ สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM 2.5) ยังเป็นปัญหา มีสารพิษอื่นอีกมาก และแหล่งกำเนิดไม่ใช่เพียงแค่ "ภาคเกษตร-ขนส่ง"
กลุ่ม 'ไทยพร้อม' และเครือข่ายจัดเสวนาผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด (Clean Air Act) ให้พรรคการเมืองต่างๆ รณรงค์ผ่าน change.org สถานทูตอเมริกาเล่าประสบการณ์ริเริ่มกฎหมายนี้ตั้งแต่1970 มีองค์กรกำกับดูแลเข้มงวด แนะประเทศไทย ยังขาดข้อมูลภาคอุตสาหกรรม จี้เร่งทำกฎหมาย 'บัญชีปลดปล่อยมลพิษ'
จากวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และหลายพื้นที่ในประเทศในช่วงที่ผ่านมา "กลุ่มไทยพร้อม" และเครือข่ายจัด เวทีเสวนา "อากาศสะอาดเป็นของมนุษยชาติ" เพื่อผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด หรือ Clean Air Act ในประเทศไทย เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่หลากหลาย อาทิ
ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข, เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ, รศ.ดร.วิษณุ อรรถานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ผศ.ดร.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
---------------------------------------------
ในสหรัฐ มีกฎหมายอากาศสะอาดมาตั้งแต่ปี 1970 ให้อำนาจทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐต่างๆ ออกกฎเกณฑ์จำกัดการปล่อยก๊าซต่างๆ ทั้งกับโรงงานอุตสาหกรรมและยานพาหนะ นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ อีพีเอ (United States Environmental Protection Agency: EPA) ทำหน้าที่ออกระเบียบและให้ความช่วยเหลือรัฐต่างๆ ในการวางแผน ทบทวนแผน และตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งมีการกำหนดมาตรฐานของสารพิษในอากาศ หากพบผู้ละเมิด อีพีเอจะออกคำเตือน ออกคำสั่งให้แก้ไข สั่งปรับก็ได้ หรือกระทั่งฟ้องผู้ละเมิดในศาลได้ด้วย
"เราจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่ฉลาดในการรับมือและให้ภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดง่ายๆ ช่วงก่อตั้งอีพีเอต้องประนีประนอมหลายประเด็น เพื่ออย่างน้อยจะได้ขยับเข้าใกล้เป้าที่ต้องการ" อิริก กล่าวและยังยกข้อมูล สถิติขององค์การอนามัยโลกว่า มีคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศประมาณ 10% ของประชากรทั่วโลก มากกว่าเอดส์ 4 เท่า
กฎหมายของสหรัฐไม่ได้เน้นการควบคุมอย่างเดียว แต่ส่งเสริมให้ลดมลพิษอย่างเป็นระบบด้วย นอกจากนี้ยังมีการให้ทุนการวิจัย 20 ปีแก่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อติดตามผลกระทบทางสุขภาพของผู้คน ตีพิมพ์ผลวิจัยปี 1993 ทำให้คนรู้จักอันตรายของ PM2.5 ต่อมาปี 1995 สมาคมโรงมะเร็งอเมริกันเผยแพร่ผลการศึกษาว่า PM2.5 ทำให้เกิดการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในปี 1997 หลักฐานทั้ง 2 ชิ้นนี้ทำให้สมาคมโรคปอดอเมริกันฟ้องอีพีเอ ส่งผลให้หน่วยงานนี้ต้องเพิ่มมาตรฐานอากาศและบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดมากขึ้น
ฉะนั้น คำแนะนำสำหรับประเทศไทย คือ 1.ยกร่างกฎหมายอากาศสะอาดที่รอบด้านทั้งการควบคุมและลดมลพิษ 2.ตั้งหน่วยงานกลางอย่างอีพีเอ 3.สร้างระบบติดตามตรวจสอบสภาพอากาศในทุกพื้นที่4.ผลิตองค์ความรู้ที่ทันสมัยรวมสหวิทยาการ
ขณะที่รายงานของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2561 ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากทีมวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือเอไอที (Asian Institute of Technology: AIT) ที่ระบุว่า แหล่งกำเนิดPM2.5 ใน กทม. คือ "ไอเสียรถยนต์ ดีเซล การเผาชีวมวล และฝุ่นทุติยภูมิ..." ว่าการวิเคราะห์ที่มาของฝุ่นนั้นเป็นไปตาม "บัญชีการปลดปล่อยมลพิษ" ซึ่งยังขาดความครบถ้วนของข้อมูลในภาคอุตสาหกรรม
เฉพาะตัวบัญชีการปลดปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากและประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายนี้ ขณะที่ต่างประเทศล้วนมีกฎหมายนี้แล้ว ทำให้สาระสำคัญจึงควรกำหนดให้แหล่งกำเนิดมลพิษต้องส่งข้อมูลการปล่อยมลพิษโดยระบุชนิดและปริมาณด้วย ในสหรัฐอเมริกามีการกำหนดตัวมลพิษที่ต้องรายงานไว้ 800 กว่าชนิด ญี่ปุ่นประมาณ 200 กว่าชนิด
โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เตรียมยกร่างกฎหมายบัญชีการปล่อยมลพิษในปี 2558 สำรวจความเห็นภาคอุตสาหกรรมในมาบตาพุดแล้วด้วยว่า 79% เขาอยากให้มีและยินดีปฏิบัติตาม แต่เกิดรัฐประหารก่อนจึงยังไม่ได้ผลักดัน
ขณะที่ พ.ร.บ.โรงงานฯ ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของ สนช. เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2562ที่ผ่านมา ว่าอาจมีผลเอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการตั้งโรงงานได้มากขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งอาจมีผลต่อความรุนแรงของปัญหามลภาวะทางอากาศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงปัญหา PM2.5 ด้วย ส่วนข้อเสนอในทางนโยบายคือ ต้องแยกอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนและควบคุมมลพิษให้แยกขาดจากกันและมีอำนาจทัดเทียมกัน
โดยองค์การอนามัยโลกคำนวณว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศราว 4.2 ล้านคน โดย 92% อยู่ในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ที่ผ่านมาตนได้ทำวิจัยโดยใช้แนวคิดความพึงพอใจในชีวิตซึ่งรวมเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย มีการคำนวณความเต็มใจจ่ายของคน กทม. (หากต้องการอากาศสะอาดยอมจ่ายเงินเท่าไร) พบว่า หากต้องการให้ฝุ่น PM.10 ลดลง 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจากที่เกินระดับความปลอดภัย คน กทม. เต็มใจจ่าย 6,380 บาทต่อปีต่อครัวเรือน เมื่อคูณกับ 2.89 ล้านครัวเรือนจะได้เงินจำนวน 18,420 ล้านบาทต่อปี
แม้อาจกล่าวโทษหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมาก แต่งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมของไทยมุ่งเน้นไปที่ด้านอื่นๆ เช่น การแก้ปัญหาน้ำเสีย กำจัดขยะ เป็นหลัก ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณการดูแลมลภาวะทางอากาศให้สมดุลกับงานที่ต้องทำด้วย
สำหรับแนวคิดในทางกฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญและไม่ค่อยพูดถึงกันคือ มรดกร่วมกันของมนุษยชาติ อากาศที่ดีก็อยู่ในแนวคิดนี้ มันไม่ใช่ของใคร ทุกคนรับตกทอดจากการบรรพบุรุษ มีหน้าที่ต้องรักษาเพื่อส่งให้รุ่นถัดไป และ Right to breathe clean air จึงเกิดขึ้น
เมื่อเกิดคำถาม กฎหมายอากาศสะอาดเกิดในประเทศไทยหรือยัง โดยมีคำตอบในทำนองว่า กฎหมายที่มียังเป็นแบบไม่เต็มที่ ไม่มากพอที่จะแก้ปัญหาได้ และยิ่งกว่านั้นโครงสร้างองค์กรของเราอ่อนแอมาก หน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถทำงานให้ได้ผล ถ้าจะเริ่มผลักดันก็เริ่มได้เลย ตรงไหนก็ได้ขอแค่เริ่ม
ประเด็นที่ต้องคำนึงและพูดถึงอย่างมากคือ PM 2.5 ไม่ใช่แค่ฝุ่น มันยังมีสารก่อมะเร็งเป็นร้อยชนิด มีตะกั่ว ปรอท แคดเมียม สารโลหะหนักหลายชนิดที่จะอยู่ในนั้นได้ นอกจากนี้ยังมีจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายตัวด้วย สิ่งที่เรียกร้องมาโดยตลอดสิบกว่าปีคือ อยากเห็นค่ามาตรฐานสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ แต่ก็ไม่เกิดความคืบหน้าแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.พลเดช ปิ่นประทีป กล่าวสรุปว่า เครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้คือ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดประชุมทุกเดือนธันวาคม ในปี2562 อาจตั้งเป้าเลยว่าจะบรรจุเรื่องนี้ในระเบียบวาระ โดยภาคส่วนต่างๆ ต้องร่วมเตรียมการ พร้อมกับเคลื่อนไหวด้านอื่นทั้งการผลักดันข้อเสนอกับพรรคการเมือง การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และสร้างแรงกระตุ้น ปลุกพลังทุกภาคส่วนมาสานพลังบูรณาการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างจริงจัง
โดย... กลุ่มงานสื่อสารสังคม
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)