‘SVL Group’ ชูวัฒนธรรมสตาร์ทอัพ ยืนหนึ่งในใจคนรุ่นใหม่

‘SVL Group’ ชูวัฒนธรรมสตาร์ทอัพ ยืนหนึ่งในใจคนรุ่นใหม่

เพราะกลัวว่าวันพรุ่งนี้บริษัทจะอยู่ได้หรือเปล่า กลัวว่าอนาคตอันใกล้อาจจะถูกดิสรับโดยใครก็ไม่รู้ กลัวว่าจะไม่มีงานทำ พนักงานจะตกงาน

“สุรเดช มุขยางกูร” ประธานกรรมการบริหาร เอสวีแอล กรุ๊ป (SVL Group) ยอมรับว่า “กลัว” เพราะโดยส่วนตัวแล้วเขาติดตามกระแสดิสรับมายาวนานหลายปี และที่ชัดเจนก็คือการปรากฏตัวของ "อูเบอร์" ที่ไม่รู้เป็นใครมาจากไหน แต่ใช้เวลาไม่กี่ปีก็สามารถแซงทางโค้งกลายเป็นเบอร์หนึ่งโลจิสติกส์โลกได้ ทั้งๆที่บริษัทไม่มีรถเลยสักคันเลย


กลายเป็นว่าในอนาคตเอสวีแอลเองก็อาจถูกรุกรานโดยใครก็ไม่รู้ ดังนั้นหลายปีที่ผ่านมาเขาจึงพยายามพูดและเตือนตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงานทุกคนให้ตระหนัก เข้าใจและเตรียมพร้อม แต่การปรบมือข้างเดียวไม่ดังแน่ๆ จำเป็นต้องสร้าง “ความรู้สึกร่วม”


ทั้งยังได้เชื้อเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากข้างนอกมาช่วยแชร์และถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้คนในองค์กรได้ซึมซับ ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายกว้างไกลยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของการสร้างความตระหนักนั้นว่าด้วย “การสื่อสาร”


ปัจจุบันเอสวีแอล กรุ๊ป ใช้โซเชียลมีเดียชื่อว่า “เวิร์คเพลส” ซึ่งถูกพัฒนาโดยเฟสบุ๊คเป็นช่องทางที่ให้คนภายในองค์กรสามารถสื่อสารและฟีดแบ็คกัน ทำให้ทุกคนได้เห็นข้อมูลข่าวสารของกันและกันแบบเรียลไทม์ สุรเดชยังเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนมาพูด “มอร์นิ่งทอลค์” เป็นเล่าให้เพื่อนๆฟังเกี่ยวกับความคิด ตลอดจนประสบการณ์ของตัวเองผ่านช่องทางนี้ด้วย


"ถ้าเป็นสมัยก่อนเราจะพูดตามสายแต่เดี๋ยวนี้มันหมดสมัยแล้วกับวิธีการเก่าๆ ผมให้ทุกคนอัดวิดีโอถ่ายคลิปตัวเองมาเปิดในตอนเช้า เหตุผลที่ให้ทุกคนพูดเพราะอยากให้พวกเขาได้ฝึกพูดและไม่ใช่แค่พูดเฉยๆต้องอัดเป็นคลิป เพื่อทำให้พวกเขาคุ้นเคยกับเทคโนโลยี แต่สำคัญกว่านั้นก็คือทุกคนต้องหยิบประเด็น ต้องคิดก่อนว่าจะเล่าอะไรให้เพื่อนๆพนักงานฟัง ซึ่งในแต่ละปีพนักงานของเราทุกคนจะได้พูดอย่างน้อยหนึ่งครั้ง"


แน่นอนคำว่า “ครั้งแรก” สำหรับทุกคนคือเรื่องยาก แต่เมื่อได้ลองทำที่สุดก็จะค่อยๆมีความคุ้นเคย และเปลี่ยนจากโลกอนาล็อกก้าวสู่ดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ


แต่เมื่อเร็วๆนี้ สุรเดชก็ได้พบว่าโลกยุคดิจิทัลก็มีทั้งข้อดีข้อเสียในเวลาเดียวกัน เพราะมีวันหนึ่งที่เขาจะนัดแนะพนักงานทุกคนเกี่ยวกับ “ทาวน์ฮอลล์มีตติ้ง” ในวันพรุ่งนี้ แต่เมื่อส่งข้อความว่าอย่าลืมนัดสำคัญนี้ไปทางเวิร์คเพลสกลับไม่มีการตอบกลับจากพนักงานของบริษัทที่มีราวพันคนเลยแม้สักคนเดียว ..สาเหตุมาจากระบบของเฟสบุ๊คล่ม


"ผมคิดว่าอีกหน่อยอาจต้องมีวันหยุดงานแห่งชาติก็เป็นได้ ถ้าระบบเกิดล่มขึ้นมาคนทำงานก็ทำอะไรต่อไม่ได้ เพราะชีวิตเราผูกติดกับระบบของเขา ข้อมูลต่างๆของบริษัทอยู่บนคลาวด์ทั้งหมด พอเป็นอย่างนี้ผมเองก็ชักไม่แน่ใจว่าระบบมันจะรองรับได้มากน้อยแค่ไหน มันถือเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวและน่าสะพรึงมากเลยทีเดียว"


อย่างไรก็ดีเมื่อปีที่แล้วสุรเดชได้ตั้งสโลแกนที่แสดงถึงการมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งสตาร์ทอัพว่า “เอสวีแอล สตาร์ทอัพ คอร์ปอเรชั่น”


"บางคนมองว่าเราจะทำธุรกิจสตาร์ทอัพเหรอ ตอบว่าใช่แต่ไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งที่ผมอยากทำก็คือ อยากให้องค์กรมีวัฒนธรรมแบบสตาร์ทอัพ อยากให้คนในองค์กรไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆในลักษณะคอปอเรทที่ต้องวิ่งขึ้นวิ่งลง แต่ก็คงไม่ใช่สตาร์ทอัพ 100% แต่อย่างน้อยสุดคนของเราต้องมีจิตสำนึกความมีส่วนร่วม ความเป็นเจ้าของเหมือนกับที่สตาร์ทอัพมี"


เขาบอกว่าวิธีทรานส์ฟอร์มของเอสวีแอลแตกต่างไป “จงเอาเยี่ยง แต่อย่าเอาอย่าง” จึงไม่ควรก้อบปี้แนวทางของคนอื่นมาใช้ 100% แต่ต้องพยายามหาจุดยืนที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กร และคนในองค์กร แม้ว่าหลายคนอาจเคยเห็นโครงการ THE UNICORN by SVL ที่เชิญชวนคนภายนอกมาแข่งขัน แต่แท้จริงแล้วก่อนหน้านั้นเอสวีแอลได้จัดเวทีโลจิสติกส์อินโนเวชั่นให้พนักงานภายในทุกคนส่งไอเดียเข้าประกวด


"เราต้องการให้พนักงานทุกคนได้ทำและผ่านขั้นตอนต่างๆคล้ายสตาร์ทอัพ แต่อาจต่างไปจากองค์กรอื่นๆที่เขาให้เวลาพนักงาน 10% ได้ไปนั่งคิดหรือไปทำอะไรก็ได้เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ สิ่งที่ผมพยายามเน้นก็คือ พนักงานทุกคนควรคิดวิธีการแก้ไขปัญหาในงานที่พวกเขากำลังทำอยู่ในแบบของสตาร์ทอัพ"


ผลลัพธ์ก็คือ เวลานี้เอสวีแอลได้พัฒนาแอพชื่อ “เดอะตลาดนัด” จะทำหน้าที่เป็น “มาร์เก็ตเพลส” ให้เจ้าของตลาดนัดและแม่ค้าได้มาเจอกัน โดยกำหนดจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือนหน้านี้ ซึ่งที่มาของมันแน่นอนว่ามาจากปัญหาในการทำงานที่ต้องพบเจออยู่ทุกวัน


"ไม่แค่โลจิสติกส์ เอสวีแอลทำธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้เมเนจเมนท์ด้วย เราทำศูนย์อาหาร ทำตลาดนัด และในฐานะเจ้าของตลาดเราก็มีเพนพ้อยท์เกี่ยวกับระบบการจองล็อกขาย เพราะเรามีแม่ค้าในระบบกว่า 600 รายซึ่งทุกๆวันจะมีการออกร้านประมาณ 60-70 ราย ทีแรกลูกน้องผมบอกจะพัฒนาโปรแกรมการคำนวน แต่ผมบอกว่าถ้าเราเจอปัญหานี้เจ้าของตลาดนัดอื่นๆก็ต้องเจอปัญหานี้เหมือนกัน ควรไปสำรวจทำวิจัยดูดีๆจึงได้พบว่าจำนวนตลาดนัดในกรุงเทพมีมากกว่าหมื่นแห่ง ทั้งประเทศมีเป็นหลักแสน เล็กสุดมีล็อกขายประมาณ 20 ล็อก สูงสุดมีเป็นพันๆล็อก มีแม่ค้าพ่อค้าในระบบเป็นล้านคน ซึ่งมันก็คือบิสิเนสตัวหนึ่ง"


การทรานฟอร์มของหลายองค์กรมักมองหาโอกาสธุุรกิจใหม่ๆ เอสเคิร์ฟใหม่ แต่เอสวีแอลมองปัญหาในธุรกิจเดิมที่รู้ลึกรู้ดีและอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นอยู่แล้ว ซึ่งคิดได้ก็ทำได้เลย แม้อาจต้องใช้เงินและเวลาในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีบ้าง แต่ระหว่างนั้นบริษัทก็ยังคงมีเงินจากค่าล็อกขายของในตลาดนัดทุกเดือนๆ เรียกว่าสตาร์ทอัพของเอสวีแอลจะไม่ขาดทุนตั้งแต่แรก


ข้อความทั้งหมดนี้อาจดูเหมือนมุ่งการทรานส์ฟอร์มเป็นหลัก ทว่าเป้าหมายใหญ่ที่แท้จริงของสุรเดชนั้นว่าด้วยการสร้างแบรนด์องค์กรเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่


"เป้าหมายของผมอาจจะดูเหมือนทะเยอทะยานไปสักหน่อย สมัยก่อนนิตยสารฟอร์จูนมีโครงการที่ชื่อ World's Most Admired Companies หรือบริษัทที่คนชื่นชอบอยากทำงานด้วย ผมฝังใจในเรื่องมาตลอด หน้าที่ในการนำองค์กรของผมจึงมุ่งทำให้เอสวีแอลเป็นองค์กรที่ไม่แค่คนในเท่านั้นที่อยากอยู่ แต่คนภายนอกก็อยากมาร่วมงานด้วย แต่เราก็ไม่ได้หวังเป็นระดับโลก แต่อย่างน้อยผมอยากจะทำให้บริษัทนี้เป็นที่สุดของเมืองไทย เพราะอนาคตของบริษัทไม่ได้ขึ้นอยู่กับผม แต่อยู่ที่คนใหม่ ๆซึ่งเราต้องดึงดูดพวกเขาเข้ามาร่วมทำงานกับเรา คือเรื่องที่สำคัญที่สุด"


สรุปว่า โครงการและกิจกรรมมากมายที่เอสแอลวีพยายามขับเคลื่อนมาทั้งหมด ก็เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานที่แอคทีฟและท้าทาย เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มคนมิลเลนเนียลส์ที่มีมุมมองความต้องการต่างไป ถึงแม้เอสวีแอลเป็นบริษัทภายใต้กลุ่มสหวิริยาองค์กรที่มีอายุ 60 กว่าปี แน่นอนว่าดูดีมั่นคงในสายตาคนรุ่นเก่า แต่ในวันนี้ความมั่นคงกลับไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญของเด็กรุ่นใหม่อีกต่อไป ..งานที่ท้าทายต่างหากที่พวกเขาต้องการ