กทม.พร้อมนำสายสื่อสารลงใต้ดินแล้วเสร็จภายใน 2 ปี
กทม.พร้อมนำสายสื่อสารลงใต้ดินแล้วเสร็จภายใน 2 ปี
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมการดำเนินโครงการบริหารจัดการการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่าง กสทช. และกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมายภายใน 2 ปี
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.มีแผนบริหารจัดการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) เพื่อให้เมืองมีทัศนียภาพสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง ไม่ว่าจะเป็นสายไฟฟ้า และสายสื่อสาร อีกทั้งสอดคล้องกับที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (DE) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 ซึ่งมีมติให้กรุงเทพมหานครจัดทำแผนการดำเนินงาน มาตรการและกลไกในการขับเคลื่อนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ดังนั้น กทม.จึงได้หารือร่วมกับกสทช. และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม อาทิ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) รวมถึงการไฟฟ้านครหลวง เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยกทม.รับเป็นเจ้าภาพ พร้อมทั้งมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินโครงการ รวมถึงขอใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ถูกต้อง และนำเสนอแผนดำเนินโครงการต่อคณะกรรมการ DE คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐาน และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ตามลำดับ
ทั้งนี้ บริษัทกรุงเทพธนาคมฯ ได้ประสาน กสทช. เพื่อขอใบอนุญาตในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทที่ 3 (มีโครงข่ายเป็นของตนเอง) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 จากนั้นได้เสนอแผนดำเนินงาน มาตรการ และกลไกในการขับเคลื่อนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อคณะกรรมการ DE คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐาน และคณะรัฐมนตรี เพื่อเห็นชอบการดำเนินการ จนกระทั่งเมื่อวันทึ่ 15 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมติคณะกรรมการ DE ให้กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการ
สำหรับการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินนั้น กทม.ได้มีการแยกแผนดำเนินการออกจากแผนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เนื่องจากปัญหาสายสื่อสารระโยงระยาง รกรุงรัง เป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นต้องดำเนินการในทันที อีกทั้งลักษณะการก่อสร้างเพื่อวางท่อร้อยสายสื่อสาร และสายไฟฟ้า มีความแตกต่างกัน โดยการนำสายสื่อสารลงใต้ดินจะดำเนินการขุดวางท่อร้อยสายบนทางเท้าที่ความลึกประมาณ 80 เซนติเมตร ความกว้างไม่เกิน 40 เซนติเมตร ในขณะที่ท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง จะเป็นการขุดวางใต้ผิวจราจรที่ระดับความลึกประมาณ 4 เมตร ซึ่งมีความยุ่งยากกว่าใช้เทคโนโลยีท่อร้อยสายไมโครดักมาตรฐานเดียวกับทั่วโลก