‘หมายแดง’จุดเสื่อมอินเตอร์โพล

‘หมายแดง’จุดเสื่อมอินเตอร์โพล

หมายแดง เป็นอาวุธชื่อดังในคลังแสงที่อินเตอร์โพลใช้ดักจับเหล่าอาชญากร แต่เหล่านักสังเกตการณ์เตือนว่า ขณะนี้หมายแดงเสี่ยงตกเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลเผด็จการนำไปใช้ในทางที่ผิด แม้จะมีการยกเครื่องระบบแล้วก็ตาม

องค์การตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) เป็นคนออกหมายดังกล่าวเพื่อขอให้ทางการทั่วโลกจับกุมบุคคลที่อยู่ระหว่างการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามที่รัฐสมาชิกร้องขอระบบนี้ถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิจารณ์เสมอมาว่า เป็นช่องให้รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือดักจับผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลได้พอๆ กับอาชญากรร้ายแรง แม้ปฏิรูปครั้งใหญ่กันไปแล้วปัญหายังคงอยู่

รัสเซีย จีน และตุรกีคือประเทศที่ใช้หมายแดงไปในทางที่ผิดมากที่สุด กรณีตุรกีนั้นเพิ่มขึ้นมากหลังจากเกิดเหตุกบฏพยายามยึดอำนาจจากประธานาธิบดีเรเซป เตย์ยิป เออร์ดวน เมื่อปี 2559แต่ตอนนี้ประเทศอำนาจนิยมในละตินอเมริกาและตะวันออกกลางเข้ามาร่วมขบวนเพิ่มมากขึ้น

อเล็กซ์ มิค  จากแฟร์ไทรอัลส์ เอ็นจีโอที่ต่อสู้เรื่องความยุติธรรม โอดครวญว่า ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะว่าประเทศใดละเมิดหมายแดง หรือใช้เพราะแรงจูงใจทางการเมืองมากที่สุด

“นอกเหนือจากรัสเซีย จีน และตุรกีแล้ว ยังมีอียิปต์ อาเซอร์ไบจาน สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ เวเนซุเอลา อิหร่าน อินโดนีเซีย บาห์เรน และอื่นๆ”

เหยื่อคนหนึ่งของอียิปต์คือเซอิด อับเดลลาทิฟที่ถูกดำเนินคดีและซ้อมทรมานจนต้องขอลี้ภัยในออสเตรเลีย เมื่อปี 2555 แต่เขาถูกจับด้วยหมายแดงอินเตอร์โพลตามที่รัฐบาลไคโรร้องขอมา ต้องใช้ชีวิตอยู่ในศูนย์กักกันผู้ลี้ภัยนาน 5 ปีกว่าหมายจะถูกยกเลิก

กรณีที่คนไทยรู้จักกันดีคือฮาคีม อัล อาไรบีนักฟุตบอลบาห์เรน ได้สถานะผู้ลี้ภัยและมีถิ่นพำนักในออสเตรเลียเมื่อปี 2560 แต่ถูกจับในไทยตามหมายอินเตอร์โพลเมื่อเดือน พ.ย.ขณะมาฮันนีมูน ก่อให้เกิดคำถามถึงความเป็นกลางขององค์กร เมื่อเสียงเรียกร้องหนักเข้าสุดท้ายฮาคีมได้ปล่อยตัวกลับไปออสเตรเลีย หรือกรณีโดกัน อาคันลีนักเขียนสัญชาติตุรกี-เยอรมนี ที่ถูกตุรกีขอหมายแดงอินเตอร์โพล ถูกจับในสเปนเมื่อปี 2560 ต้องติดคุกอยู่ที่นั่นอยู่นานหลายเดือน

ก่อนหน้านี้เจอร์เกน สต็อกเลขาธิการอินเตอร์โพล เคยสั่งออกมาตรการใหม่เมื่อปลายปี 2557 เพื่อสร้างหลักประกันว่า รัฐสมาชิกไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการออกหมายได้รวมถึงสั่งทบทวนการทำงานของคณะกรรมาธิการควบคุมข้อมูลอินเตอร์โพล (ซีซีเอฟ) ที่เปิดให้ตรวจสอบและโต้แย้งการออกหมายแดง

ข้อครหาเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่อินเตอร์โพลกำลังปั่นป่วน หลังจากอดีตประธานซึ่งเป็นอดีตตำรวจจีนถูกจับในประเทศของตนเองแล้วได้เจ้าหน้าที่รัสเซียมาดำรงตำแหน่งแทน ยิ่งเกิดความหวาดกลัวว่าทำเนียบเครมลินจะเข้ามาแทรกแซง

สต็อก ชี้แจงว่า การออกหมายและเผยแพร่ทำตามข้อมูลที่มีอยู่ ณ เวลาที่มีการร้องขอมา แต่เมื่อเลขาธิการได้ข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวข้องก็จะตรวจสอบอีกครั้งหนึี่ง แต่ อแลง โบเออร์อาจารย์ด้านอาชญวิทยา วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมแห่งชาติฝรั่งเศส มองว่า จำเป็นต้องมีการตรวจสอบซีซีเอฟอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ต้องเร่งกรอบเวลาที่ซีซีเอฟใช้ และต้องมีกระบวนการอ้างอิงในสถานการณ์ผิดปกติ แต่การจะแก้ไขให้สมบูรณ์แทบเป็นไปไม่ได้

“ไม่อย่างนั้นแล้วก็ต้องทำลายเครื่องมือทั้งหมดไปเลย ให้อินเตอร์โพลเป็นหน่วยงานส่งต่อข้อมูล ขณะที่อาชญากรตัวจริงในรูปของเผด็จการก็มีอยู่ด้วย”

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงไม่แพ้กันคือการที่ประเทศต่างๆ ขอให้อินเตอร์โพลช่วยสืบหาตัวซึ่งเป็นทางการน้อยกว่าหมายแดง แต่ถือเป็นกลไกแจ้งเตือนระหว่างประเทศที่ร้ายแรงเช่นกัน

สต็อกยืนยันว่า อินเตอร์โพลไม่เคยมองข้ามเรื่องสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่หน่วยงานก่อตั้งขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้

“อินเตอร์โพลก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนความร่วมมือของตำรวจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน หรือเมื่อมีความขัดแย้งถึงขั้นใช้อาวุธ ด้วยเหตุนี้อินเตอร์โพลจึงมีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงของโลก”