ศรัทธา หลวงตาพระมหาบัวฯ
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ทรงเป็นองค์ประธานคณะผู้ออกแบบงานศิลปกรรมอันสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 9
ณ วัดเกษรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ก่อสร้างบนพื้นที่ขนาด 181 ไร่ 3 งาน 17 ตารางวา บริเวณด้านหน้าทางเข้าวัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานบรรจุอัฐิธาตุ สถานที่ระลึกถึงคุณูปการของหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ในฐานะที่เป็นบุคคลผู้ควรแก่การสร้างสถูปเจดีย์ไว้บูชาของชาวจังหวัดอุดรธานีและประเทศไทย ที่ครั้งหนึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งในการใช้ธรรมะช่วยเหลือวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเมื่อปี 2540
ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงรับเป็นประธานโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ และเสด็จเป็นองค์ประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2556 ซึ่งตรงกับวันที่หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ละสังขารครบ 3 ปีจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และทีมงานสยามรีโนเวท เป็นผู้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการออกแบบใด ๆ ทั้งสิ้น
พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ในฐานะองค์ประธานคณะผู้ออกแบบ และทีมงานจากสำนักงานสยามรีโนเวท ดำเนินการออกแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ฯ ได้รับแรงบันดาลใจสร้างสรรค์จากสถาปัตยกรรมศิลปะล้านช้าง ผสมผสานกับศิลปะยุคกรุงรัตนโกสินทร์ สะท้อนให้เห็นถึงการสืบทอดพระพุทธศาสนาในถิ่นอีสานที่ยังคงดำรงอย่างมั่นคง โดยวางผังกลุ่มอาคารตามคติความเชื่อแผนภูมิจักรวาล การนี้ เสด็จพระดำเนินไปยังอาคารทั้งสามหลัง ได้แก่ พระเจดีย์ พระวิหาร และพิพิธภัณฑ์
“พระองค์ทรงติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และเสด็จมายังพื้นที่จริง เพื่อให้ทรงทราบว่าทั้งโครงการประกอบด้วยอะไรบ้าง ในโอกาสนี้ทรงกำลังใจแก่คณะทำงานทุกส่วนด้วย” ร.ศ.วิเชษฎ์ สุวิสิทฐ์ สถาปนิก โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล กล่าว
จุดแรกที่องค์ประธานคณะผู้ออกแบบโครงการเสด็จไปเยี่ยมชม คือ บริเวณด้านหน้าโครงการฯ จัดแสดงภาพถ่าย แบบแปลน เพื่อให้เห็นหมวดงานโดยรวม นับตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย. 61 จนถึงปัจจุบัน ก่อนจะพระดำเนินขั้นไปยังชั้นสองของพระเจดีย์
"จะเห็นได้ว่าการออกแบบก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจของศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ช่างฝีมือ ผ่านงานศิลปกรรมไทยและงานจิตรกรรมที่มองเห็น ลานประทักษิณพระเจดีย์ งดงามด้วยลวดลายไทยแบบร่วมสมัยมาตกแต่งในชิ้นงาน พนักระเบียง หน้าต่าง องค์ระฆัง ปั้นลม ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ซุ้มโคมประทีป
ส่วน พระเจดีย์ มีพื้นที่ 93 ตารางเมตร แบ่งพื้นที่ใช้สอยย่อยสามระดับ ระดับแรก มีไว้สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวก ระดับที่ 2 เป็นที่ประดิษฐานพระธรรม พระไตรปิฎก ธรรมบรรยายของหลวงตาพระมหาบัว และระดับ 3 เป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุหลวงตาพระมหาบัว โดยเลือกใช้วัสดุคงทนแต่ดูสวยงาม มีคุณค่า เช่น งานแกะสลักหินอ่อน ภายในพระเจดีย์ ยอดฉัตรทองคำความสูง 113 ซม."
แม้การเสด็จตรวจงานในวันนั้น จะเป็นช่วงเวลาเย็นย่ำ อากาศยังคงร้อนอบอ้าว พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ซับพระเสโทไปพร้อมๆ กับทรงจดบันทึกคำถวายรายงานจากคณะทำงาน ก่อนจะตรัสว่า
"วันนี้อากาศร้อนนะคะ แต่พระอาทิตยที่นี่กับท้องฟ้าสวยมาก หันไปดูสิคะ ยิ่งตอนเช้าๆ ท้องฟ้าที่นี่จะสวยไปอีกแบบ”
สิ้นพระสุรเสียง คณะทำงานก็พากันหันไปมองวิวทัศน์แล้วยิ้มกว้าง รศ.วิเชษฐ์และคณะ จึงกราบทูลเชิญ ทอดพระเนตรงานก่อสร้างอาคารถัดไป คือ พระวิหาร อันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระประธาน ปางมารวิชัย เป็นปางเดียวกับพระพุทธรูปที่หลวงตาพระมหาบัวฯ เคยเคารพบูชา อีกทั้งยังอัญเชิญอักษรพระนาม จร ประดิษฐานบริเวณฐานพระพุทธรูป ซึ่งในเดือนพ.ค.นี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะเสด็จไปทรงเททองหล่อพระพุทธรูป รูปหล่อหลวงปู่เสาร์ กันตสีไล หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตและหลวงตาพระมหาบัวฯ ในคราวเดียวกัน
งานส่วนหลังคา มีความโดดเด่นด้วยโลหะทองแดงหล่อขึ้นรูปเป็นลอนที่ผ่านการคิดค้นโดยช่างฝีมือไทยทดแทนการใช้กระเบื้องทั่วไป ความพิเศษของวัสดุชนิดนี้ ทางคณะทำงานเตรียมจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา นำมาติดตั้งเป็นหลังคาแบบสองชั้น ที่มีคุณสมบัติระบายความร้อน ในขณะเดียวกับยังป้องกันน้ำรั่วซึมอาคาร สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศในภาคอีสานได้อีกด้วย
ที่ พิพิธภัณฑ์ นับเป็นอาคารหลังสุดท้าย ยังแบ่งสันปันส่วน เป็น 6 โซน ได้แก่ 'ธรรมของพระพุทธเจ้า‘ ’จากกตัญญูมีสัจจะสู่ร่มกาสาวพักตร์‘ ’การปริยัติ มุ่งมั่นเพียรพยายามสู่การปฏิบัติ' 'บารมีหลวงตาช่วยชาติ' 'เมตตา อบรมสั่งสอน' 'ละสังขาร ศิษยานุศิษย์ สามัคคีบูชา' สะท้อนแนวทางการดำเนินชีวิตในทางโลกของหลวงตาพระมหาบัวกระทั่งบรรลุธรรม รวมไปถึงการทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อให้ผู้เข้ามาเยี่ยมชมศึกษาและเรียนรู้สิ่งดีงามเหล่านี้
รวมทั้ง แนวแกนโครงการ คือจุดตัดระหว่าง เป็นการกำหนดพื้นที่กลุ่มงานสถาปัตยกรรมทั้งหมด โดยให้แกนของพระเจดีย์มุ่งสู่จิตกาธานของหลวงตาพระมหาบัวฯ และรักษาแนวแกนกลางไปในทิศทางเดียวกับเมืองพาราณาสี สาธารณรัฐอินเดีย สื่อความหมายถึง ศาสนพิธีทั้งปวงที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ จะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นองค์ประธานร่วมรับรู้ในพิธีกรรมเหล่านั้นทุกครั้ง อีกทั้งยังทำให้พุทธศาสนิกชนจะได้กราบจิตกาธานหลวงตาพระมหาบัวฯ
ต่อจากนั้นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ประทับรถยนต์ไฟฟ้าพระที่นั่งไปยังบริเวณปลูกต้นกระดุมทอง เป็นพืชเหมาะกับสภาพอากาศร้อนและดูแลรักษาง่าย และมีพระปฏิสันถารกับพสกนิกรที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ทรงแนะนำคณะทำงานแต่ละทีมแก่ชาวบ้าน พร้อมกับทรงอธิบายส่วนต่างๆ ของงานก่อสร้างประกอบแบบแปลนที่ทรงถือด้วยพระองค์เอง
“ตั้งใจจะมาทำที่นี่ให้ดีที่สุด"
พระสุรเสียงที่เปล่งในวันนั้น ชาวบ้านต่างชื่นชมยินดี เสียงอนุโมทนาบุญ 'สาธุ' สลับกับเสียง 'ทรงพระเจริญ' จึงดังไม่ขาดสาย