บก.ปคบ.-อย. ลุยจับแหล่งจำหน่ายยาไม่มีทะเบียน ย่านเขตสวนหลวง
บก.ปคบ.-อย. ลุยจับแหล่งจำหน่ายยาไม่มีทะเบียน ย่านเขตสวนหลวง ยึดของกลางสเตียรอยด์ ยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และกลุ่มยานอนหลับ กว่า 2 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รอง ผบก.ปคบ. เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. แถลงผลการจับกุมแหล่งจำหน่ายยาไม่มีทะเบียน และตรวจยึดของกลางเป็นกลุ่มยาหลายชนิด เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ กลุ่มยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และกลุ่มยานอนหลับ รวมกว่า 2 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท โดยยึดของกลางได้ที่ ห้างหุ้นส่วนสามัญ พรีเมด ฟาร์มา และอาคารเลขที่ 23 ซอยอ่อนนุช 64 แขวงและเขตสวนหลวง กรุงเทพฯ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า สืบเนื่อง อย. ได้ตรวจพบยาไม่มีทะเบียนในสถานพยาบาลเถื่อน จึงได้ร่วมกับ บก.ปคบ. เก็บข้อมูลหลักฐานและสืบสวนในเชิงลึกจนได้ข้อมูลชัดเจน กระทั่งเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา สนธิกำลังเข้าตรวจสอบสถานที่ 2 แห่ง โดยที่ห้างหุ้นส่วนสามัญ พรีเมด ฟาร์มา เป็นจุดหลัก โดยที่ห้างหุ้นส่วนสามัญ พรีเมด ฟาร์มา ตรวจยึดยาของของกลางซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นยาประเภทใด อาทิ PredniSone Tablets USP. 5 mg ฉลากไม่ระบุเลขทะเบียนตำรับยา 383,000 เม็ด ยาเม็ดกลมเคลือบฟิล์มสีส้ม 677,000 เม็ด ยาเม็ดนูนเคลือบฟิล์มสีฟ้า บรรจุในกระปุกพลาสติกสีขาวไม่มีฉลาก 68,000 เม็ด ยาเม็ดกลมแบนบรรจุในกระปุกพลาสติกไม่มีฉลาก 58,000 เม็ด ยาเม็ดสีเหลืองอ่อนกลมนูน บรรจุในกระปุกพลาสติกสีขาวไม่มีฉลาก 22,000 เม็ด และฉลากสติ๊กเกอร์ยาอีกหลายรายการ รวมกว่า 2 ล้านเม็ด มูลค่าของกลางกว่า 5 ล้านบาท
นพ.ธเรศ กล่าวว่า หากพบร้านขายยาหรือสถานพยาบาลใดที่ลักลอบขายยาไม่มีทะเบียนหรือ ขายยาโดยไม่มีเภสัชกรประจำร้าน ขอให้แจ้งมาที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธาราณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด หรือสายด่วน 1135
ด้านเภสัชกรหญิงสุภัทรา เปิดเผยว่า ยาเหล่านี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และยาที่พบส่วนใหญ่ไม่มีทะเบียนตำรับยา อาจส่งผลต่อผู้บริโภค เสี่ยงได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงขอเตือนไปยังร้านขายยา และ สถานพยาบาลทั่วประเทศ ให้ระมัดระวังในการเลือกสินค้าเข้ามาจำหน่าย ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายและซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และฝากถึงประชาชนผู้บริโภคช่วยกันเป็นหูเป็นตา การกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี พร้อมปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากมีการตรวจสอบพบว่าผลการตรวจวิเคราะห์พบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 4 จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-10 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 - 1,000,000 บาท
พ.ต.อ.วินัย กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้เกี่ยวข้อง 1 ราย ส่วนเภสัชกรที่ประจำร้านขายยา หากมีส่วนเกี่ยวข้องจะส่งสภาเภสัชกรรมพิจารณาจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ นอกจากนี้ อย. และ บก.ปคบ.จะได้ขยายผลเข้าตรวจสอบโรงงานที่ผลิตหากพบมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินมาตรการทางปกครองทันที จึงขอเตือนร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้งสถานพยาบาลทั่วประเทศ ให้ระมัดระวังในการเลือกสินค้าเข้ามาจำหน่าย ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายและต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบที่กำหนด มีจริยธรรมในการประกอบอาชีพ