'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง'เปิดมิติใหม่การค้าไทย-จีน
เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ชี้ ความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กระตุ้นการลงทุนจีนในไทยเพิ่มขึ้น 2.7 เท่าจาก 6 ปีก่อน นักท่องเที่ยวจีนมาไทยทะลุ 10 ล้าน เผย หัวเว่ยวางใจ เลือกไทยเป็นฐานทดสอบแพลตฟอร์มระบบ 5จี แห่งแรกในอาเซียน
หลู่ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวถึงมุมมองต่อการประชุมสุดยอดว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่2 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนว่า ทั่วโลกต่างจับตาผลลัพธ์การประชุมครั้งนี้ ที่นำมาซึ่งร่วมมือเป็นรูปธรรมที่น่าตื่นเต้น ในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านและพันธมิตรที่สำคัญของจีนในการร่วมสร้างสรรค์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ประเทศไทยทั้งระดับรัฐบาลและระดับประชาชนต่างก็ให้ความสนใจติดตามการประชุมในครั้งนี้
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นต้น ก็ได้เยือนประเทศจีนเพื่อร่วมการประชุมกลุ่มย่อย สื่อหลักหลายสำนักต่างติดตามรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง มีความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนา “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งทำให้การพัฒนาของไทยและความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล ตลอดระยะเวลา 6 ปีหลังการริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”เสนอขึ้นมา ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างรอบด้าน โดยจีนและไทยได้ร่วมลงนามใน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมการสร้างสรรค์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
จีนกลายเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยเป็นเวลา 6 ปีติดต่อกัน โดยในปี2561 จีนลงทุนโดยตในไทยเพิ่มขึ้น 2.7 เท่าจากเมื่อ 6 ปีก่อน ด้านนักท่องเที่ยวจีนมาท่องเที่ยวในประเทศไทยทะลุ 10 ล้านคน
ปัจจุบัน มีบริษัทไฮเทคของจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจำนวนมาก บริษัทหัวเหว่ยได้เลือกประเทศไทยเป็นฐานการทดสอบแพลตฟอร์มระบบ 5จี เป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลิตภัณฑ์และผลไม้ของไทย เช่น ทุเรียน มังคุดถูกลำเลียงถึงมือผู้บริโภคชาวจีนอย่างรวดเร็วและในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น มีผลช่วยขจัดความยากจนและสร้างความมั่งคั่งให้แก่เกษตรกรไทย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขทางสถิติหรือผลสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่าต่างสะท้อนถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ภายใต้ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมของ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และเป็นเครื่องยืนยันถึงเจตนารมณ์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่เคยกล่าวไว้ว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางริเริ่มที่จีน แต่เป็นสมบัติของมวลมนุษยชาติ”
สังคมไทยได้ตั้งความหวังอย่างมากกับผลการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ด้วยหวังให้ความร่วมมือจีนไทยมีความหลากหลาย สามารถชี้ชัดถึงประเด็นสำคัญ และส่งเสริมความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่มีประสิทธิภาพสูง มีความมั่นคงและยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ในอนาคต คีย์เวิร์ดของความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ระหว่างจีนไทยก็คือการยกฐานะและเพิ่มคุณภาพ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออย่างจริงจังระหว่างสองฝ่ายให้ก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้นและมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น
ประการแรก การมุ่งพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทั้งสองประเทศจะมุ่งมั่นทำหน้าที่ผู้นำและผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ คือการผลักดันให้โครงการรถไฟความเร็วสูงจีนไทยสำเร็จโดยเร็ว เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการ “สร้างถนน สร้างความเชื่อมโยง และสร้างความมั่งคั่ง” ส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการพัฒนาเศรษฐกิจตามเส้นทาง ให้ความฝันของชาวจีนที่ปรารถนาจะนั่งรถไฟความเร็วสูงมายังประเทศไทยได้เป็นความจริง และทำให้ภูมิภาคนี้มีการเชื่อมต่อที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
ประการที่สอง การส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทอย่างเต็มที่ ทั้งสองฝ่ายจะไขว่คว้าและใช้ประโยชน์จากโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการยกระดับอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เสริมสร้างความร่วมมือในระบบ 5จี ปัญญาประดิษฐ์ อีคอมเมิร์ซ การชำระเงินผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ และการสร้างเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น ส่งเสริมให้บริษัทไฮเทคของจีน เช่นหัวเหว่ย อาลีบาบา และเทนเซนต์ ฯลฯ มาลงทุน วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทย เพื่อสร้างจุดเด่นใหม่ๆสำหรับความร่วมมือทวิภาคี
ประการที่สาม การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศ ในขณะที่ส่งเสริมการค้าทวิภาคีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้าน “ปริมาณ” ทั้งสองประเทศจะให้ความสำคัญกับการยกระดับ “คุณภาพ" เพิ่มมากขึ้น เราจะสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเข้าสู่ตลาดของกันและกัน เพื่อให้ชาวจีนและชาวไทยได้บริโภคสินค้าและรับบริการที่ดีขึ้นและมากขึ้น
ประการที่สี่ การกระชับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและสังคมระหว่างสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายจะกระชับการแลกเปลี่ยนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และการศึกษา ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันความร่วมมือทวิภาคีด้านการศึกษาสายอาชีพ โดยสร้างพันธมิตรด้านการศึกษา และสร้างฐานปฏิบัติการด้านการศึกษาสายอาชีพ สร้างหลักสูตรร่วมกัน ดำเนินโครงการ “ภาษาจีนบวก” เป็นต้น เพื่อผลิตบุคลากรที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลน เช่น บุคลากรด้านการบินและอวกาศ รถไฟ วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ การจัดการโลจิสติกส์ เป็นต้น บูรณาการทรัพยากรด้านการศึกษาที่จีนมีความโดดเด่นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของไทย อันเป็นการส่งเสริมการพัฒนาของสังคมไทย
ในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ผู้นำจีนและผู้นำไทยได้ร่วมลงนามในเอกสารความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” โดยมีเนื้อหาครอบคลุมการเชื่อมต่อโครงข่ายและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เป็นต้น อันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดรูปธรรมของการออกแบบและวางแผนการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ระหว่างจีนกับไทย เรามีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า อาศัยโอกาสในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ จะทำให้การร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ระหว่างจีนกับไทยเกิดแรงขับเคลื่อนใหม่ภายใต้หลักการร่วมหารือ ร่วมสร้าง และร่วมรับประโยชน์ได้อย่างแน่นอน อีกทั้งจะส่งเสริมให้ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างสองประเทศก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น