เฉลิมพระนามใหม่ พระองค์โสมฯ
"ในหลวง" มีพระบรมราชโองการ เฉลิมพระนามพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ".
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 พ.ค.2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จฯ จากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานไปยัง พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทางพระทวารเทวราชมเหศวร ในพระบรมมหาราชวัง ในการพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการเฉลิมพระนาม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เป็น "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุธนารีนาถ" ความว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ราชประเพณี ซึ่งมีสืบมาแต่โบราณ เมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลราชยสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาพระเกียรติยศ พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ เป็นพระมารดาผู้ทรงอภิบาล พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะและพระทัยเมตตา จนทรงเจริญพระชนมายุ และทรงปฏิบัติสรรพกรณียกิจ อันควรแก่ขัตติยนารี
กอปรพระเจ้าวรวงศ์เธอ ผู้พระมารดานั้น ก็ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจน้อยใหญ่ สนองพระเดชพระคุณมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลก่อน สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ได้ราชการเป็นอันมาก เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยสมควรที่จะได้รับยกย่องพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฎว่า “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ” และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ กับเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคลวิบูลย์ศุภผล สกลเกียรติยศ ปรากฏยิ่งยืนนานตลอดจิรัฏฐิกาลเทอญ ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลปัจจุบัน”
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุธนารีนาถ เข้าเฝ้าฯ หน้าพระราชอาสน์ พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ และเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1 พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์
พระราชประวัติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุธนารีนาถ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุธนารีนาถ มีพระนามเดิมคือ หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคม 2500 ณ โรงพยาบาลกายส์ เขตเซาท์วาร์ก กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นธิดาคนโตของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (พระนามเดิม: หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล) เหตุที่ประสูติในลอนดอนสืบเนื่องมาจากพระบิดา คือ หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ ได้ไปศึกษากฎหมายในอังกฤษหลังพระราชทานน้ำสังข์แล้ว จนเมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 2 ปี จึงได้กลับมายังประเทศไทย
พระนาม โสมสวลี อันหมายความว่า “น้ำผึ้งพระจันทร์” นั้นเป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เข้าใจว่าคงจะนำมาจากสร้อยพระนามของ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ครอบครัวและพระสหายในโรงเรียนราชินีมักเรียกสั้น ๆ ว่า “คุณโสม” ส่วนพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระยรมโอรสาธิราชฯ) ทรงเรียกว่า “โสม” เฉยๆ มีพระขนิษฐาเพียงคนเดียวคือ หม่อมหลวงสราลี กิติยากร หรือ “คุณน้ำผึ้ง” ซึ่งเป็นนักแสดงและพิธีกร
หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา รุ่นที่ 5 เมื่อปี 2504 รุ่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน์ วรขัตติยราชนารี แต่เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ ย้ายไปเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2510 พระองค์ก็ทรงลาออกจากโรงเรียนเดิมและย้ายไปประทับที่เชียงใหม่โดยเข้าเรียน ที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย เป็นเวลา 2 ปี และเมื่อบิดาได้ย้ายกลับมายังกรุงเทพมหานคร ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระยะหนึ่ง แต่ด้วยมิสะดวกต่อการรับส่ง จึงได้ย้ายมาศึกษาอยู่ที่โรงเรียนราชินี เนื่องจากเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางที่ไปยังที่ทำงานของบิดา
พระกรณียกิจ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุธนารีนาถ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านต่างๆ แบ่งเบาพระราชภาระ สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจกาลินี พีรยะพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยะชาติ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน์ วรขัติยราชนารี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในการเสด็จแทนพระองค์ไปทรงประกอบพระกรณียกิจต่างๆ จนลุล่วงด้วยดี สมกับที่ทรงวางพระราชหฤทัยตลอดมา
และวันที่ 14 มีนาคม 2554 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุธนารีนาถ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนธิราเทพยวดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ รศ.ดร.นายแพทย์พิชิต สุวรรณประกร เป็นผู้แทนพระองค์นำถุงยังชีพ 3,000 ถุง ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ โครงการ/มูลนิธิในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุธนารีนาถ ทรงมีความสนพระทัยในด้านสังคมสงเคราะห์ และการสาธารณสุข ทรงรับโครงการต่างๆ ของสภากาชาดไทย ไว้ในพระอุปถัมภ์หลายโครงการ และทรงจัดตั้งมูลนิธิและโครงการส่วนพระองค์อีกหลายโครงการ อาทิ
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์) มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา (ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์) มูลนิธิศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย (ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ตลอดพระชนม์ชีพ) มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของศาลเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิบ้านบางแค มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก ของศาลเยาวชนและครอบครัว โครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก สภากาชาดไทย โครงการคืนชีวิตให้พ่อแม่เพื่อลูกน้อยที่ติดเอดส์ กองทุนยาพระวรราชาทินัดดามาตุ สำหรับผู้ติดเชื้อเอดส์ สภากาชาดไทย กองทุนนมสำหรับเด็กในโครงการช่วยลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี สมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย