ครั้งแรกของมหาวิทยาลัยไทย ม.รังสิตให้ทุนเรียน ‘กัญชาศาสตร์’
..มีงานวิจัยพบว่ากัญชาสามารถนำมาใช้เพื่อการแพทย์ได้จริง คาดว่าตลาดในอนาคตน่าจะต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนี้ คณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้เปิดสอนวิชากัญชาศาสตร์ขึ้นมาในระดับปริญญาตรีเป็นครั้งแรก
รองศาสตราจารย์ ดร.บัญญัติ เศรษฐฐิติ คณบดีคณะนวัตกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่าจะเปิดหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเกษตร เป็นเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย ระบบและการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farming) ด้วยการเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision agriculture) การใช้เครื่องมือตรวจวัดอิเลคโทรนิค (Sensors) ทั้งในแปลง การตรวจวัดอากาศและข้อมูลกำหนดพิกัดจากดาวเทียมและสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GPS และ GIS)
การประยุกต์คอมพิวเตอร์เพื่อการเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร ระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเพื่อการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตรสำหรับอนาคต เช่น นวัตกรรมการปลูกพืชที่ไม่ใช้ดิน (Soilless Culture) การเกษตรแนวตั้ง (Vertical agriculture) เกษตรกรรมในเมือง (Urbon agriculture) เป็นต้นและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจบริการด้านการเกษตร มาตรฐานและข้อกำหนดเกี่ยวกับผลผลิตเกษตรโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทาน โดยมีกลุ่มวิชาให้เลือกเรียนทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช และการจัดการผลิตผลเกษตร 2) กลุ่มวิชาเทคโนโลยีการจัดการฟาร์มอัจฉริยะ 3) กลุ่มวิชาเทคโนโลยีการจัดการธุรกิจเกษตร 4) กลุ่มวิชาเทคโนโลยีชีวภาพด้านนวัตกรรมเกษตร
เพื่อให้สอดรับกับกระกัญชาทางการแพทย์ จะเปิดสอนรายวิชา “กัญชาศาสตร์” ในกลุ่มวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช และการจัดการผลิตผลเกษตร ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจำนวน 4 รายวิชา คือ 1) กัญชาศาสตร์ 2) เทคโนโลยีการผลิตกัญชาทางการแพทย์ 3) เทคโนโลยีปรับปรุงพันธ์กัญชาทางการแพทย์ 4) การปฏิบัติการปรับปรุงพันธ์กัญชาการการแพทย์
โดยจะมุ่งเน้นสอนเทคนิคการปลูก การขยายพันธุ์ ซึ่งการเรียนการสอนเน้นความรู้ไปทางการแพทย์ เทคโนโลยีการผลิตกัญชาทางการแพทย์แบบแม่นยำสูง การเลือกและการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดที่เหมาะสม รูปแบบและวิธีการติดตั้งตัวตรวจวัด การเชื่อมต่อการใช้งานตัวตรวจวัดในลักษณะของเครือข่ายในสภาพแวดล้อมจริง เพื่อควบคุมและจัดการฟาร์มกัญชาอัจฉริยะ เช่น ระบบให้น้ำและปุ๋ย ระบบตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมในแปลงปลูก ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือนปิด เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีการเก็บรักษา ที่ตอบสนองอาชีพปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีทุนต้นกล้าเกษตรเพื่อพัฒนาประเทศจนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ให้กับนักศึกษาที่เป็นบุตรหลานเกษตรกร จบชั้น ม.6 วิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์คะแนนเฉลี่ย 2.50 สาขาศิลป์ภาษา ศิลป์คณิตศาสตร์ คะแนนเฉลี่ย 2.75 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) คะแนนเฉลี่ย 2.75 ที่มีความตั้งใจ มุ่งมั่น จะศึกษาต่อด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อสามารถนำกลับไปร่วมพัฒนาอาชีพ มีความประพฤติดี มีพื้นฐานด้านการเกษตร ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือมีถิ่นที่อยู่ในเขตทุรกันดาร หรือพื้นที่เสี่ยงภัย ส่วนนักเรียน ม.6 หรือเทียบเท่าทั้งสายวิทย์-คณิต สายศิลป์ และ ปวช.ที่สนใจเข้าเรียนต้องมีคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.00
อย่างไรก็ตามวันที่ 13 พ.ค.นี้ จะมีการเปิดเว็บไซต์ลงทะเบียนการใช้กัญชาทางอินเตอร์เน็ตสำหรับผู้ป่วย ก่อนสิ้นวันนิรโทษกรรม www.cdb.oss.org เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของผู้ป่วยที่อยู่ในที่ต่างๆของประเทศไทย สามารถเลือกการรักษาของตนได้อย่างถูกกฏหมาย และเข้าถึงโดยไม่มีระยะทางเป็นอุปสรรค
และในวันที่ 21 พ.ค.- 9 มิย. 62562 นายเดชา ศิริภัทร จะเดินรณรงค์เพื่อเปิดเสรีกัญชารักษาโรค และปลดกัญชาออกจาบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อมาใช้สำหรับการรักษาโรค จากวัดบางปลาหมอ จังหวัดสุพรรณบุรี ถึงวัดป่าวชิรโพธิญาณ จังหวัดพิจิตร โดยจะใช้เวลาเดินทาง 20 วัน โดย มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน เครือข่ายผู้ป่วย ร่วมเดินรณรงค์ในครั้งนี้ด้วย