แนะปชช.ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ให้ถูกหลักโภชนาการ
กรมควบคุมโรค แนะประชาชนถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ให้ถูกหลักโภชนาการ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เผยพบพระสงฆ์อาพาธจากโรคไขมันอุดตันในเลือดมากที่สุด
วันนี้ (17 พฤษภาคม 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้คร่าชีวิตประชาชนไทยถึงร้อยละ 74 ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 400,000 คนต่อปี ข้อมูลการเสียชีวิตจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี 2556 ถึงปี 2560 พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ มีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนี้ โรคหลอดเลือดสมอง จาก 23,222 ราย เพิ่มเป็น 31,172 ราย โรคหัวใจขาดเลือด จาก 17,394 ราย เพิ่มเป็น 20,746 ราย โรคเบาหวาน จาก 9,703 ราย เพิ่มเป็น 14,322 ราย และโรคความดันโลหิตสูง จาก 5,186 ราย เพิ่มเป็น 8,525 ราย
นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว พระสงฆ์และสามเณรเป็นอีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วงจากการเจ็บป่วยด้วยโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง จากข้อมูลของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปี 2559 พบว่าประเทศไทยมีพระสงฆ์และสามเณร 358,167 รูป ในจำนวนนี้ได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพ เพียง 122,680 รูป หรือร้อยละ 34 เท่านั้น โดยข้อมูลจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีพระสงฆ์และสามเณรอาพาธมารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ โรคไขมันในเลือดสูง 9,609 รูป โรคความดันโลหิตสูง 8,520 รูป โรคเบาหวาน 6,320 รูป โรคไตวายเรื้อรัง 4,320 รูป และข้อเข่าเสื่อม 2,600 รูป
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ปัญหาสุขภาพดังกล่าวมาจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการฉันอาหารที่มีข้อจำกัด ไม่สามารถประกอบอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารจากการถวายและรับบิณฑบาตเท่านั้น ทำให้พระสงฆ์และสามเณรไม่มีทางเลือกในการฉันอาหาร ประกอบกับการที่พระสงฆ์และสามเณรมีการเคลื่อนไหวอิริยาบถ อย่างจำกัด จึงทำให้พระสงฆ์และสามเณรมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นอกจากนี้ พระสงฆ์และสามเณร ควรมีความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการ เพื่อพิจารณาฉันอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย เน้นอาหารให้ครบ 5 หมู่ ปลา เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ไข่ และถั่วเมล็ดแห้ง ลดอาหารหวาน มัน เค็ม งดเว้นสิ่งเสพติดทุกชนิด น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง รวมถึงควรเพิ่มการเคลื่อนไหวอิริยาบถให้มากขึ้น เช่น การเดินจงกรม การกวาดลานวัด และการบริหารร่างกายด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้ ฆราวาสหรือประชาชนควรตระหนักและให้ความสำคัญกับการจัดอาหารเพื่อสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณร เอาใจใส่คุณภาพอาหารที่นำมาใส่บาตรถวายพระสงฆ์และสามเณร ควรเน้นอาหารสุขภาพประเภทต้ม อบ นึ่ง ลดการถวายอาหารหวาน มัน เค็ม ใส่บาตรพระสงฆ์และสามเณรในปริมาณที่พอดีไม่มากจนเกินไป เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพระสงฆ์และสามเณร นอกจากได้บุญแล้วยังถือเป็นการร่วมกันดูแลสุขภาพพระสงฆ์และสามเณรอีกด้วย ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422