ศิริราชพบยารักษามะเร็งเต้านม อาจใช้ได้ผลดีกับมะเร็งท่อน้ำดี
ทีมวิจัยศิริราชพยาบาล ม.ขอนแก่น และญี่ปุ่น ค้นพบแนวทางใหม่ในการรักษามะเร็งท่อน้ำดีสำหรับผู้ป่วยไทย โดยใช้ยายับยั้งโปรตีน CDK4-Cyclin D ผลการทดลองในสัตว์ได้ผลดีและมีความเป็นพิษต่ำเมื่อเทียบกับเคมีบำบัด เตรียมขยายผลทดสอบในคนต่อไป
รศ. ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล และศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านเภสัชวิทยาเชิงระบบศิริราช ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เปิดเผยว่า มะเร็งท่อน้ำดีเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของคนไทย มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณปีละ 6,000 - 10,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในโลก เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาใด ๆ ให้ผลน่าพอใจ การรักษาที่อาจได้ผลมีเพียงการผ่าตัดที่ทำได้เฉพาะในผู้ป่วยจำนวนไม่กี่รายเท่านั้น (ไม่เกิน 5 คนจากผู้ป่วย 100 คน) ดังนั้นการวิจัยค้นคว้าหายาที่จะใช้ได้ผลดีกับมะเร็งนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดและต้องรีบดำเนินการ
ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทีมผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ได้ค้นพบและผลักดันแนวทางการรักษาใหม่สำหรับมะเร็งร้ายนี้ โดยอาศัยจุดอ่อนจำเพาะอันหนึ่งของมะเร็งท่อน้ำดีที่พึ่งพาโปรตีนที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ (cell cycle regulators) ได้แก่ CDK 4 และ Cyclin D1 ในการดำรงชีวิตและเจริญเติบโต เป็นพฤติกรรมที่คล้ายมะเร็งเต้านมชนิดหนึ่ง การค้นพบนี้จะนำไปสู่แนวทางการรักษาใหม่ที่ใช้ยาต้านการออกฤทธิ์ของโปรตีน CDK4-Cyclin D ไปทำลายมะเร็งท่อน้ำดีโดยตรงอย่างมีประสิทธิภาพ ผลการทดลองที่โรงพยาบาลศิริราชแสดงว่ามะเร็งท่อน้ำดีไวต่อยาชนิดนี้มาก และครอบคลุมมะเร็งท่อน้ำดีได้หลายประเภท นักวิจัยได้ทำการยืนยันในโมเดลที่สามารถเป็นตัวแทนผู้ป่วยในหลายระดับเพื่อความมั่นใจ โดยใช้โมเดลที่เสมือนผู้ป่วยในการทดสอบทั้งแบบ 2 มิติ, 3 มิติ และในสัตว์ทดลอง นำมาสู่ผลการทดลองที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะนำไปสู่การทดลองในมนุษย์เป็นลำดับต่อไป
หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวถึงประโยชน์และข้อดีที่เป็นจุดเด่นของงานวิจัยชิ้นนี้ต่อการพัฒนาแนวการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี ว่าการค้นพบพฤติกรรมของมะเร็งท่อน้ำดีนี้สำคัญมาก เพราะทำให้เราเชื่อมโยงความรู้เข้ากับการรักษาได้ทันที ยาที่ใช้ยับยั้งโปรตีนกลุ่มนี้มีอยู่แล้วหลายตัว เช่น Palbociclib, Ribociclib, และ Amebaciclib ซึ่งมีความเป็นพิษต่ำเมื่อเทียบกับยาเคมีบำบัด โดยเป็นยารับประทานวันละครั้ง และมีข้อมูลด้านความปลอดภัยพร้อมอยู่แล้ว ขณะนี้เริ่มมีการใช้รักษามะเร็งอื่น ๆ ในประเทศไทย เช่น มะเร็งเต้านม จึงสามารถนำมาปรับใช้กับมะเร็งท่อน้ำดีได้อย่างรวดเร็ว และลัดการทดสอบได้หลายขั้นตอน ซึ่งจะช่วยเร่งการใช้ประโยชน์จากแนวทางใหม่นี้ให้ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีได้ประโยชน์เร็วที่สุด
การยับยั้งโปรตีนในสองกลุ่มดังกล่าวแล้วได้ผลเป็นอย่างดีมากนั้นค่อนข้างอยู่เหนือความคาดหมาย เพราะรายงานชิ้นสำคัญที่ผ่านมาจะไม่พบการกลายพันธุ์ของโปรตีน CDK4-Cyclin D อย่างชัดเจนในมะเร็งท่อน้ำดี แต่เนื่องจากทีมวิจัยนี้มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโปรตีน จึงตรวจพบร่องรอยของความผิดปกติ “ผลการวิเคราะห์ชิ้นเนื้อของผู้ป่วยไทยอย่างละเอียด และประสบการณ์ในการทำวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับโปรตีนดังกล่าวมานาน ทำให้เห็นร่องรอยบางอย่างของโปรตีนกลุ่มนี้ซ่อนอยู่ในเนื้อเยื่อมะเร็งที่วิเคราะห์ จึงเร่งพิสูจน์ทราบอย่างละเอียดจนนำมาสู่การทดสอบการใช้ยาและผลที่น่าพอใจ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังเสนอวิธีการทำนายล่วงหน้าว่าผู้ป่วยคนใดจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์จากยานี้ เวลาปฏิบัติจริงแพทย์ก็จะเลือกใช้ยาได้อย่างประสิทธิภาพโดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องได้รับยาหากไม่ได้ผลอีกด้วย นับว่างานวิจัยนี้ส่งผลกระทบทั้งทางเศษฐกิจและนโยบายอย่างแท้จริง”
โครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), e-Asia Joint Research Project รวมถึงคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผลการทดลองได้รับความสนใจจากแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก นำมาสู่การตีพิมพ์ในวารสาร Hepatology อันเป็นวารสารสำคัญทางการแพทย์ระดับนานาชาติที่มีผู้สนใจมาก ทั้งนี้เพราะมะเร็งท่อน้ำดีเริ่มกลายเป็นปัญหาสำคัญต่อประชากรทั่วโลก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มพบผู้ป่วยในตะวันตกจำนวนมากขึ้นเช่นกัน
“ทีมวิจัยมุ่งมั่นที่จะรักษาชีวิตหรือเพิ่มคุณภาพการรักษาให้กับผู้ป่วยชาวไทยเป็นหลัก เพราะผู้ป่วยไทยขาดโอกาสในการรักษาจริงๆ โรคมะเร็งท่อน้ำดีแต่เดิมไม่ใช่ปัญหาของโลกตะวันตก จึงไม่ค่อยมีการวิจัยหรือแนวทางการรักษาถูกพัฒนาขึ้นจากโลกตะวันตกออกมา เราจึงต้องทำเองและต้องรีบ โดยความร่วมมือร่วมใจของทีมวิจัยทั้งหมด และการทำงานเป็นทีมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของโครงการนี้ เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ และวิทยาการที่ทันสมัยที่สุดในการเอาชนะความท้าทายนี้ ขณะนี้เราไม่ได้นิ่งนอนใจและเร่งค้นคว้าต่อยอดงานวิจัยนี้อย่างเต็มความสามารถ” รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวนนท์กล่าวทิ้งท้าย