ไออีเอเผยยอดใช้ก๊าซธรรมชาติปี 2561 พุ่ง
รายงานไออีเอเผย 2561 ปีทองของก๊าซธรรมชาติ ความต้องการทั่วโลกพุ่งขึ้นมาก กลุ่มสิ่งแวดล้อมห่วงผลกระทบต่อสภาพอากาศ
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศเผยแพร่รายงานประจำปีวานนี้ (7 มิ.ย.) ว่า ในปี 2561 ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 4.6% มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 และคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของการบริโภคพลังงานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ก๊าซธรรมชาติถือว่าเป็นพลังงานสะอาดกว่าถ่านหิน ที่ยังเป็นพลังงานฟอสซิลจึงมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนโดยฝีมือมนุษย์เมื่อการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น สะท้อนถึงการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการพลังงานทางเลือกมาแทนถ่านหินในจีน
ฟาตีห์ ไบรอล กรรมการบริหารไออีเอ เผยว่า ปี 2561 ถือเป็นปีทองของก๊าซธรรมชาติ
“การใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มในอัตรามากที่สุดในทศวรรษนี้ โดยก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 45% ของส่วนที่เพิ่ม เหนือกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ ทั้งหมด”
ในทัศนะของไออีเอ ก๊าซมีบทบาทสำคัญช่วยลดมลพิษทางอากาศ ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แต่นักสิ่งแวดล้อมและนักวิเคราะห์ธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลเสียต่อสภาพภูมิอากาศโลก ยิ่งนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า จำเป็นต้องลดการใช้พลังงานฟอสซิล การใช้ก๊าซก็ยิ่งเติบโตมากขึ้น
ลอร์เน สต็อกแมนนักวิเคราะห์อาวุโสจากออยล์เชนจ์ อินเตอร์เนชันแนลเตือนว่า ก๊าซไม่ได้สะอาด ถูก หรือจำเป็นอย่างที่คิด
ตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยโลกร้อนปี 2558 นานาชาติยอมรับควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นไปได้ต้องไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
ปีก่อนคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยโลกร้อน กล่าวว่าวิธีที่ดีที่สุดในการคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส คือลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลง 1 ใน 4 ภายในปี 1573 และลดลง 74% ภายในกลางศตวรรษ
ไออีเอประเมินว่า การใช้ก๊าซจะเติบโตปีละ 1.6% ไปจนถึงปี 2567 เป็นอย่างน้อย
“ปีทองของก๊าซธรรมชาติย่อมหมายความว่า เป็นปีหายนะของสภาพอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อันเป็นผลจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ เราจำเป็นต้องลดการใช้ก๊าซเสียแต่ตอนนี้ แทนที่จะมาฉลองกันว่าความต้องการใช้ก๊าซพุ่งสูงสุด ไออีเอควรเรียกร้องให้ยุติการลงทุนผลิตก๊าซใหม่ๆ ได้แล้ว”มอร์เรย์ เวอร์ธีย์ นักรณรงค์ลดใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน จากกลุ่มโกลบอลวิตเนส เรียกร้องแบบแทงใจดำ ซึ่งรายงานความยาว 184 หน้าของไออีเอไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้เลย
น่าสังเกตว่าการใช้ก๊าซที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อปีก่อน ส่วนใหญ่อยู่ในจีน ตัวเลขการใช้ก๊าซในประเทศจีนเพิ่มขึ้น 18.1% เนื่องจากรัฐบาลพยายามลดการใช้ถ่านหิน ได้แรงหนุนจากการผลิตก๊าซจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2494 เฉพาะการผลิตก๊าซจากหินดินดานของสหรัฐอย่างเดียวคาดว่าจะทะลุ 1 ล้านล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2567
ก๊าซธรรมชาติถูกขนานนามว่าเป็น “พลังงานเปลี่ยนผ่าน” จากน้ำมันและถ่านหินไปสู่พลังงานทดแทน เท่าที่โครงสร้างพื้นฐานยังรองรับได้ และซัพพลายก็ยังมีเหลือเฟือ
แต่ก็มีสัญญาณว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังลดความร้อนแรง รายงานไออีเอชี้เรื่องราคาก๊าซลดเป็นผลจากโอเวอร์ซัพพลายและนักลงทุนไม่ค่อยสนใจ
“ตลาดก๊าซธรรมชาติโอเวอร์ซัพพลายไปเรียบร้อยแล้ว ราคามีแต่ลดลง การผลิตเพิ่มในตลาดโอเวอร์ซัพพลาย จะส่งผลให้ราคาเพิ่มแล้วดันกำไรให้ผู้ผลิตได้เหรอ?”ทอม ซานซิลโลผู้อำนวยการไออีอีเอฟเอ กลุ่มคลังสมองด้านการเงินของธุรกิจพลังงานตั้งคำถาม
ขณะที่องค์กรอื่นเห็นด้วยกับทัศนะของไออีเอ ที่มองว่าก๊าซช่วยลดมลพิษทางอากาศและควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“การลงทุนและพึ่งพาพลังงานฟอสซิลต่อไป พร้อมๆ กับใช้ประโยชน์จากน้ำมันและก๊าซแหล่งสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ เสี่ยงทำให้สภาพอากาศเข้าสู่หายนะ ในโลกที่ผู้คนหลายล้านชีวิตย่อยยับเพราะโลกร้อน ไม่มีอนาคตให้ใช้พลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้นอีกต่อไป”ฮาร์จิต ซิงห์จากกลุ่มสิ่งแวดล้อม “แอคชันเอด” ให้ความเห็น