ภาพใหม่การศึกษาไทยต้องรับมือโลกVUCA TEPForum 2019
ภาพใหม่การศึกษาไทย ต้องปรับตัวตอบโจทย์โลก VUCA ความรู้มีอายุสั้นลงแต่คนอายุยืนยาวมากขึ้น เปลี่ยนระบบการศึกษาทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ ยืดหยุ่น และปรับตัวได้ง่าย
วานนี้ (8 มิ.ย.) กลุ่มภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership :TEP) ได้จัดเวที TEPForum 2019 ภาพใหม่การศึกษาไทย :New Eduction Landscape ที่หอประชุมมหิศร SCB Park Plaza ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ โดยมีนายวรากรณ์ สามโกเศศ ตัวแทนภาคีเพื่อการศึกษา กล่าวว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญของชาติ เพราะชาติจะเจริญได้ต้องมีการศึกษาที่ดี ตอนนี้มีปัญหาการศึกษามากมาย ซึ่งปัญหาที่ชัดเจนคือการสั่งจากข้างบนลงไปข้างล่าง ดังนั้น จำเป็นต้องมีความคิดเห็น สะท้อนปัญหา ข้อเสนอแนะจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน การจัดงานครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ทุกคนร่วมพลังและผลักดัน โดยภาพใหญ่ของการศึกษาไทยต้องการชักชวน 26 องค์กร มาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิด 3 อย่างเกิดขึ้นมา เป็นการสร้างเครือข่าย ให้กำลังใจ และขับเคลื่อนจากข้างล่างสู่ข้างบน เกิดเป็นนโยบายได้ อย่างไรก็ตาม คนเรามี 3 อย่างในชีวิตที่สำคัญ คือ มีใครสักคนที่จะรัก มีอะไรจะทำสักอย่างที่มีความหมาย และมีอะไรสักอย่างที่เป็นความหวัง ทุกคนที่มาวันนี้อยากเห็นการศึกษาไทยเดินไปข้างหน้า ที่ผ่านมาท้องฟ้าอาจจะมืดมิดแต่เชื่อว่ามีความหวัง และการดำเนินการครั้งนี้ จะเป็นความหวังการศึกษาที่เดินไปด้วยกัน
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) และเลขานุการภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษา กล่าวถึงภาพใหม่การศึกษาเพื่อการสร้างเสริมสมรรถนะเด็กไทย ว่า ภาพใหม่การศึกษาไทยจะหน้าตาอย่างไร ต้องมองจากตลาดแรงงาน และโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างไร ถึงจะรู้ว่าต้องจัดการศึกษาอย่างไร ซึ่งในหลายองค์กรประเทศไทยขณะนี้มีการปรับตัวอย่างมาก เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ เคยกล่าวว่าการปรับตัวของธนาคารเหมือนเรือในมหาสมุทรจะลอยแบบเห็นฝั่งก็จะไม่สามารถเจอน่านน้ำใหม่ โดยการปรับตัวของธนาคารคือ ฝ่ายบริหารไม่มีห้องทำงาน และมีการตั้งบริษัทลูกขึ้นมา ทำเกี่ยวกับดิจิตอล และการจัดการข้อมูล พยายามสร้างนวัตกรรมของใหม่ให้เร็วขึ้น 10 เท่า ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ กระจายความคล่องตัว ให้อิสระกับทีมงาน ลดการทำงานที่ซับซ้อน และทุกคนต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องรับมือกับโลกยุคใหม่ที่มีการพลิกผัน ปั่นป่วนมากมาย
“โลกที่มีความพลิกผัน หรือที่ในวงการธุรกิจ เรียกว่าโลก VUCA นั้นมาจากการเปลี่ยนไว (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty)ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ(Ambiguity) ซึ่งการเปลี่ยนไวคือ โลกอดีตเปลี่ยนช้ามาก แต่โลกที่มีการปฎิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างตอนนี้ เปลี่ยนไว เกิดความไม่แน่นอน ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ประเทศไทยอาจหาญทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งที่โลกไม่มีความแน่นอน มีความซับซ้อนจากองค์ประกอบที่เชื่อมโยง หลากหลาย และมีคลุมเครือมากขึ้นเรื่อยๆ ยากที่จะพยากรณ์ได้ ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
นอกจากนั้น ความรู้มีอายุสั้นลง ถ้าส่งลูกไปเรียนในแต่ละคณะเมื่อลูกจบออกมาความรู้จะเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถใช้ได้ และความรู้ที่มีความเสื่อมค่าเร็วมาก คือ ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ที่เมื่อเรียนจบแล้วอาจจะมีเพียง 1 ใน 4 ที่ใช้ได้หรือใช้ได้ไม่ได้เลย ขณะที่ความรู้สั้นลงแต่ชีวิตผู้คนกลับยืดยาว ซึ่งอายุขัยคาดการณ์ตามช่วงเวลาของคนไทย ปีหนึ่งเพิ่มประมาณ 4 เดือนขึ้น ส่วนหนึ่งทำให้เกิดผลต่อโครงสร้างประชากรไทย อายุขัยคาดการณ์เด็กปี 2559 ตามช่วงเวลาจะมีอายุประมาณ 75 ปี แต่การคาดการณ์แบบนี้ไม่ได้คิดรวมผลการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งถ้านำมาคิด อาจจะมีอายุขัยเฉลี่ยใกล้ 100 ปี ทั้งหมดคือโลกยุคใหม่ สิ่งที่ท้าทายคือ ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว มีคำกล่าวของอาจารย์เฮนรี มินทซ์เบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ มหาวิทยาลัยแมคทิลด์ ไว้ว่า เมื่อโลกพยากรณ์ได้ เราต้องการคนฉลาด แต่เมื่อโลกพยากรณ์ไม่ได้ เราต้องการคนที่ปรับตัวได้ ผมคิดว่าคำกล่าวนี้ จะทำอย่างไรให้เด็กของเราสามารถเรียนรู้และปรับตัวได้” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่าตอนนี้สิ่งที่รู้ คือต้องสร้างทักษะให้เด็กอยู่ในศตวรรษที่ 21 มีทักษะ มีทัศนคติ มีอุปนิสัย อาทิ เด็กต้องใฝ่หาความรู้ อดทน มีทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม และต้องมีทักษะพื้นฐานอย่างน้อย 3 อย่าง คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน แต่ด้วยโลกพลิกผันรวดเร็ว ตนเองมองว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อาจไม่เพียงพอ ต้องเป็นทักษะศตวรรษที่ 21 บวกๆ โดยคนที่อยู่รอดต้องมีใจเปิดกว้าง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ โจทย์โลกธุรกิจเหมือนกับโลกการศึกษา คือ คนต้องกล้าทดลอง กล้าล้มเหลว กล้ามีความผิดพลาด เรียนรู้จากความผิดพลาดได้ และมีใจแห่งการเติบโต
ถ้าแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มหนึ่งมีจิตใจคงที่ และ2.กลุ่มที่เชื่อว่าแม้วันนี้ทำอะไรไม่ได้แต่วันหนึ่งเราจะทำได้ ซึ่งเด็กกลุ่มที่ 2 จะอยู่รอด อย่างไรก็ตามแม้ความรู้จะมีอายุสั้นลง แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความรู้ เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีพลิกผันที่จะมาสะท้อนตัวเขา ทฤษฎีความรู้ว่าถูกสร้างได้อย่างไร และทำไมถึงผิดพลาดได้ ต้องสร้างระบบการเรียนรู้ใหม่ เพื่อสร้างทักษะให้เด็กอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 บวกๆ และต้องไม่จำกัดการเรียนรู้ในห้องเรียน ต้องมีการเรียนรู้ที่จะทำให้คนยึดหยุ่น ปรับตัวได้ง่ายขึ้น ในห้องเรียนอาจเป็นการทดลอง การเล่น การเรียนรู้การคิดขั้นสูง การคิดเชิงออกแบบ แต่ต้องทำให้ทุกคนเริ่มต้นด้วยความหลงใหล การที่เด็กคนหนึ่งอยากเรียนรู้ต้องเกิดจากความชอบ ความหลงใหล ไม่ใช่เพียงแรงผลักดันภายนอกเท่านั้น การศึกษาวันนี้เหมือนลอยอยู่น่านน้ำที่เห็นเพียงฝั่ง แต่หากไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถเจอน่านน้ำใหม่ได้
นายขจรเกียรติ เก่งจันทร์วรกุล ศิษย์เก่าโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ตัวแทนคนรุ่นใหม่ กล่าวว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือ ที่ช่วยให้ทุกคนเรียนรู้ได้มากขึ้น ซึ่งโรงเรียนคือแบบจำลองในชีวิตสังคม และครูมักจะบอกว่าเรียนเพื่อทำงาน และเรียนไปเผื่อใช้ ตนเองได้ทดลองคำพูดของครู โดยออกไปทำงาน พบว่า ไปอยู่ในวงจร ทำงาน ตอกบัตร และกลับบ้าน โดยไม่รู้ว่าตนเองถนัดอะไร เพราะต่อให้มีทักษะแต่ขาดการประยุกต์ใช้ ดังนั้น การศึกษาต้องช่วยให้เด็กได้ค้นพบแนวทาง รู้ว่าตนเองถนัดอะไร ซึ่งหน่วยงานอย่างโรงเรียน ครู ต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ช่วยค้นหาตัวเอง พ่อแม่ควรเปิดกว้างให้เด็กได้ลองได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และเด็กเองต้องกล้าคิด กล้าลอง กล้าที่ลงทำ และอยากให้กระทรวงศึกษาธิการรับฟังปัญหา นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง