ตร.ค้นบ้านผู้ต้องสงสัย พบประวัติค้าอาวุธสงคราม-ไม้พยุง เก็บดีเอ็นเอเปรียบเทียบวัตถุพยาน ขณะที่การข่าวพบกลุ่มบุคคลป่วนประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน สั่งเข้มงวดดูแลความปลอดภัย
ที่ บช.ภ.3 เมื่อเวลา18.50 วันที่ 11 มิถุนายน พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวภายหลังประชุมความคืบหน้ากรณีพบอาวุธสงครามจำนวนมากกว่า 3,000 รายการ ในพื้นที่ จ. ศรีสะเกษ ว่า ได้สอบปากคำพยานแวดล้อมแล้ว กว่า 10 ปาก ซึ่ง 1 ใน 10 มีบุคคลที่ต้องสงสัยซึ่งเป็นอดีตข้าราชการตำรวจ ตรวจสอบประวัติเคยต้องโทษคดีค้าอาวุธสงคราม (อาก้า) เมื่อปี 2552 และ ค้าไม้พยุง เมื่อปี 2554 ก่อนจะพ้นโทษออกมา ทำให้ชุดสืบสวนตรวจค้นบ้านผู้ต้องสงสัยรายนี้ แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด
เบื้องต้น ได้สั่งการให้กองพิสูจน์หลักฐาน หรือ พฐ. ตรวจดีเอ็นเอผู้ต้องสงสัยเทียบกับอาวุธสงครามที่พบว่าตรงกันหรือไม่ โดยจะทราบผลภายใน 3 วัน ทั้งนี้ ยังไม่ยืนยันว่าผู้ต้องสงสัยรายนี้เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือมีแนวคิดฝักใฝ่การเมืองหรือไม่ อยู่ระหว่างสอบปากคำ
รองผบ.ตร. กล่าวว่า ส่วนแนวทางการสืบสวนตั้งไว้หลายประเด็น แต่ไม่ขอเปิดเผยว่าประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ แต่อาวุธสงครามเหล่านี้มักจะพบว่าถูกนำไปก่อเหตุในการชุมนุม ยอมรับว่าความยากลำบากในคดีนี้ไม่มีประจักษ์พยาน อย่างไรก็ตามตำรวจทำเต็มที่มั่นใจได้ตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 , 2 ,3 และ 7 เพิ่มจุดตรวจตั้งด่านความความมั่นคงทั้งหมด 98 จุด ให้ปฎิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ได้มีการบูรณาการร่วมกันทั้ง ตำรวจ ทหาร และ ฝ่ายปกครอง ในการจัดกำลังผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครตามอำเภอชายแดน ทำการเอ็กซเรย์พื้นที่อย่างละเอียด เพื่อค้นหาอาวุธสงครามที่อาจหลงเหลืออยู่และป้องกันไม่ให้เข้ามาในราชอาณาจักร
รองผบ.ตร กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันการข่าวขณะนี้พบการเคลื่อนของกลุ่มบุคคลที่จะเตรียมก่อความวุ่นวายในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนปลายเดือนมิถุนายนนี้พร้อมกำชับตำรวจนครบาลและตำรวจทั่วประเทศ ให้เพิ่มมาตราการดูแลรักษาความปลอดภัยในทุกพื้นที่ ส่วนกลุ่มใดจะทำการชุมนุมก็จะต้องแจ้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อน 3 ชั่วโมง ตาม พรบ.การชุมนุมสาธารณะ
พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ รองผู้บังคับการกองบังคับการสายตรวจและปฎิบัติการพิเศษ กล่าวว่า ตรวจสอบพบว่าอาวุธสงครามที่พบใน3 จุด จ.ศรีสะเกษ นั้นลักษณะคล้ายกับอาวุธที่ถูกนำไปใช้ในการก่อเหตุในการชุมนุมทางการเมือง และยังตรวจสอบอาวุธที่พบล่าสุดมีหมายเลขกำกับเป็น “ไทป์56” ซึ้งตรงกันหลายเหตุการณ์กับอาวุธที่เคยยึดได้ในช่วงการชุมนุมเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในช่วงปี 2553-2557 ยืนยันว่าล็อตนัมเบอร์ของอาวุธสงครามทั้งหมดไม่พบในการใช้งานในงานในกองทัพ และ ตำรวจ