วิจัยกัญชาใช้ใน 16ตำรับยาแพทย์แผนไทย
กรมการแพทย์แผนไทยฯ องค์การเภสัชกรรม ลงนามร่วมกับ มก. วิจัยและพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยให้ได้มาตรฐานเมดิคัลเกรด นำมาใช้ตำรับยาแพทย์แผนไทย 16 ตำรับ
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.62 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การเภสัชกรรม และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ ที่มก. โดยมี นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก สธ. กล่าวว่า ประเทศไทยมีภูมิปัญญาทางแพทย์แผนไทยมาหลายพันปี ซึ่งแต่เดิมกัญชาสายพันธุ์ไทยมีหลากหลาย จากความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการศึกษาวิจัยสายพันธุ์ไทย ว่าแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร เพื่อนำกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีโลหะหนัก ไม่มีพิษ ไม่มีสารอันตรายจากเชื้อรา ไม่มียาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา คุณภาพมาตรฐานเมดิคัลเกรดนำไปใช้ในตำรับยาแพทย์แผนไทย ทั้ง 16 ตำรับ ที่ศาสตร์การแพทย์แผนไทยมีกัญชาเป็นส่วนผสม โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยที่ปลอดภัย เพื่อผลิตยาให้ประชาชนนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย เพราะตามธรรมชาติที่เป็นอยู่ ถ้าหากมีสารปนเปื้อนที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติจะเป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะการนำมาใช้ทางการแพทย์ ความปลอดภัยเป็นอันดับแรกที่ต้องนึกถึง ต่อมาก็ดูเรื่องประสิทธิผลประสิทธิภาพ
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ในฐานะองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ ได้ทำการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งในส่วนของกัญชานั้น องค์การเภสัชกรรม ได้มีความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้กัญชาไทยได้มาตรฐาน ปลอดภัย นำไปสู่การผลิตยาเพื่อพี่น้องประชาชน และอนาคตจะมีการพัฒนาให้สามารถใช้ในระดับโลกได้ โดยความร่วมมือครั้งนี้ มุ่งพัฒนาวิธีการปลูก และวิจัยกัญชาสายพันธุ์ไทย เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีคุณภาพ มีปริมาณสารสำคัญที่มีสัดส่วนคงที่ สม่ำเสมอ ได้มาตรฐาน ไม่มีสารปนเปื้อน ซึ่งเป็นกัญชาสายพันธุ์ไทย ที่ไม่ได้เอามาจากของกลาง แต่จะเป็นต้นกัญชาจากองค์การเภสัชกรรม ประมาณ 140 ต้น เพื่อนำไปวิจัย ร่วมกับที่มก.ปลูกและศึกษาวิจัย อันนำไปสู่การผลิตยาที่ได้มาตรฐาน
ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์แผนไทยฯ องค์การเภสัชกรรม และมก. จะต้องดำเนินการภายใน 5 ปี เพื่อศึกษาวิจัยกัญชาสายพันธุ์ไทย แต่คาดว่าจะสามารถได้กัญชาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อให้ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ผลิตตำรับยา ภายใน 3 ปี เพราะขณะนี้มีภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย มีสายพันธุ์กัญชา และมีการศึกษาวิจัยเบื้องต้นอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการนับหนึ่งใหม่
น.ส.สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มก.กล่าวว่ามก.เป็นมหาวิทยาลัยที่ทำงานต้นน้ำ เกี่ยวกับพันธุ์พืชต่างๆ มาใช้ประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาในการพัฒนาพันธุ์พืช คือ ไม่มีความชัดเจนว่าสายพันธุ์ แต่ละชนิดเป็นเช่นใด เนื่องจากสายพันธุ์ค่อนข้างมีหลากหลาย เพราะฉะนั้น การจะนำพันธุ์พืชไปผลิตยาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดี และมีความแน่นอน มก.จะมุ่งพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยเหมาะทางการแพทย์ และปลูกได้ภายในสภาพแวดล้อมของไทย โดยมีกรรมวิธีการปลูกได้มาตรฐาน ต้องมีความปลอดภัยอย่างสูง เพื่อไม่ให้มีการปนเปื้อน ยาฆ่าแมลง หรือโลหะหนัก ต้องมีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน เพื่อนำมาผลิตยาให้แก่ประชาชน
นายวัชรพงษ์ อินทรวงศ์ รองอธิการบดีวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร มก. กล่าวว่าขณะนี้ ทางมก.ได้จัดสรรงบประมาณในการปลูกกัญชา และได้มีการขออนุญาตในการปลูกจากทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีการดำเนินการในส่วนอื่นๆ ไว้แล้ว โดยโจทย์ใหญ่ที่ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร มก.ต้องทำคือพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทยที่นอกจากมีคุณภาพ มาตรฐานแล้ว ต้องเป็นต้นแบบให้เกษตรกร เพราะมก.ไม่ได้มีหน้าที่ขายพันธุ์กัญชาเอง แต่ต้องสร้างต้นแบบที่ดีในการควบคุมต้นทุนให้แก่เกษตรกรต่อไป ซึ่งความร่วมมือศึกษาวิจัยครั้งนี้ เบื้องต้น จะใช้เมล็ดกัญชาสายพันธุ์หางกระรอก ที่ได้จากการเพาะปลูกของทางมหาวิทยาลัย เพื่อปลูกในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ทั้งในพื้นที่กรีนเฮ้าส์ 2 ห้อง ห้องละ 480 ตารางเมตร และพื้นที่ภายนอก 5 ไร่ โดยระยะแรกจะปลูกประมาณ 1,400 ต้น เพื่อให้ได้กัญชา 1 ตัน คาดว่าจะเริ่มปลูกในเดือนก.ค.นี้ เพื่อส่งวัตถุดิบ กัญชาให้แก่ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ต่อไป
นายวิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มก. กล่าวว่าปัจจุบันกัญชาสายพันธุ์ไทยท้องถิ่นค่อนข้างหายากมาก เนื่องจากที่ผ่านมามีการปราบปรามกัญชาอย่างเข้มงวด เบื้องต้นมีกัญชาสายพันธุ์ไทยที่สามารถหาได้ง่าย มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์นกคุ้ม และสายพันธุ์หางกระรอก โดยเฉพาะสายพันธุ์หางกระรอก ซึ่งมีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลายและลดอาการปวด แต่ก่อให้เกิดการเมาสูง หากใช้ในปริมาณที่ไม่เหมาะสมก็ใช่ว่าจะสามารถรักษาโรคได้ เพราะแต่ละคนจะมีภูมิคุ้มกันต่างกัน การใช้กัญชา ซึ่งผลิตเป็นยาต่างๆต้องมีการกำหนดปริมาณการใช้ ไม่ใช่ทุกคนจะใช้ในปริมาณเท่ากัน เหมือนกันหมด
"ตอนนี้สิ่งที่ทุกคนรับรู้ คือกัญชาเป็นพืชมหัศจรรย์รักษาได้ทุกโรค แต่ถ้าไปศึกษาข้อมูล งานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาเกือบ10,000 ชิ้น ไม่ได้ระบุว่ากัญชารักษาโรคได้ทุกโรค และไม่ได้รักษาโรคมะเร็งได้หายขาด และตอนนี้หากไปดูจำนวนผู้ป่วยในห้องไอซียู ตามโรงพยาบาลต่างๆ จะพบว่า มีผู้ป่วยที่แอ็ดมิทจากการใช้น้ำมันกัญชา หรือยาจากกัญชาจำนวนมาก และมีเข้ามาทุกวัน เนื่องจากทุกคนรับรู้ว่าน้ำมันกัญชา ยาจากกัญชาดี และซื้อมาใช้รักษา โดยไม่รู้วิธีการใช้ยาที่เหมาะสม เช่น บางคนตอนแรกใส่ไป 1 หยด เห็นว่านอนหลับสบาย ก็เพิ่มปริมาณไป 4 หยด จนเกิดอาการเหมือนหยุดหายใจ ต้องเข้าโรงพยาบาล เป็นต้น ดังนั้น อยากให้ประชาชนทุกคน ก่อนจะใช้ยาที่ผลิตมาจากกัญชา ขอให้ศึกษาวิธีการใช้ เพราะยากัญชาที่มีการใช้ตอนนี้ มีทั้งดีและลบ บางคนใช้รักษาได้ บางคนอาจจะรักษาโรคที่ตนเองเป็นไม่ได้" นายวิเชียร กล่าว