ตามขย้ำ 'กรรมการสรรหา' ส.ว. ซัดผลประโยชน์ทับซ้อน-ผิดจริยธรรมร้ายแรง
"ศรีสุวรรณ" จวกกรรมการสรรหา ส.ว. ตั้งตัวเองเป็น ส.ว. ผลประโยชน์ทับซ้อน-ผิดจริยธรรมร้ายแรง เล็งเอาผิดเลขาฯครม.-ผอ.ฝ่ายอารักษ์ ปมไม่นำคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสรรหาประกาศราชกิจจาฯ
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) - 14 มิ.ย.62 เวลา 10.30 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวน สอบสวน เอาผิดคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ว่า ภายหลังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ทั้ง 10 คนนั้น คิดว่าสังคมไทยคงรับไม่ได้ และตนก็รับไม่ได้เช่นกัน เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ชัดเจนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ควรมี แต่คนที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหาส่วนใหญ่มีตำแหน่งเป็นรองนายกฯ และเป็นอดีตรัฐมนตรีที่ยังเป็นสมาชิกของ คสช.อยู่ แต่กลับมีการมาดำเนินการคัดเลือกตั้งตัวเองให้ไปเป็น ส.ว. นอกจากจะขัดรัฐธรรมนูญเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว ยังเป็นเรื่องที่ขัดต่อประมวลจริยธรรมที่กำหนดโดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดค่อนข้างจะร้ายแรง ซึ่งในเรื่องจริยธรรมร้ายแรงเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะต้องเสนอศาลฎีกาให้วินิจฉัยและลงโทษตามกฎหมายต่อไป
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า จากการกระทำของคณะกรรมการสรรหาเข้าข่ายผิดมาตรฐานจริยธรรมข้อ 7 ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน, ข้อ 8 ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และข้อ 9 ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นการจะปล่อยให้เรื่องนี้หายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่งไม่ได้ และเรื่องนี้ควรจะเป็นบรรทัดฐานของสังคม เพื่อไม่ให้คนพวกนี้ย่ามใจและไม่สนใจกระแสของสังคมจนมีการใช้อำนาจอย่างนี้อีก
“การที่นายวิษณุออกมาพูดว่า กลัวว่าเมื่อแพร่งพรายรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว.ออกไปแล้ว อาจจะทำให้เกิดการวิ่งเต้น และเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องรู้นั้น ตนคิดว่านายวิษณุอาจจะเข้าใจผิด หรืออ่านกฎหมายไม่ครบ เพราะการประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ตามคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 นั้นมีความจำเป็น เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 269 อนุมาตรา 1 เขียน ไว้ชัดเจนว่า คสช.ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ และมีความเป็นกลางทางการเมือง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่ คสช.แต่งตั้งจะมีความทรงคุณวุฒิ มีความรู้ความสามารถ และมีความเป็นกลางทางการเมือง ประชาชนก็ต้องมาช่วยกันดู ไม่ใช่ว่าจะไปแต่งตั้งแม่เล้านางโลม โสเภณี หรือคนค้ายาเสพติด มาเป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ก็ได้ และไม่ให้คนอื่นรู้อย่างนั้นจะได้หรือ เป็นนักกฎหมายควรจะรู้ ไม่ใช่ออกมาเอาสีข้างเข้าถู หรือเป็นแค่เนติบริกรที่ถูกประชาชนตำหนิทั่วประเทศ”นายศรีสุวรรณกล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า สำหรับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้อำนวยการฝ่ายอารักษ์ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่ในการนำประกาศ คสช.ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่การที่ไม่ดำเนินการไปลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะวัตถุประสงค์ของการนำเอกสารราชการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มี 3 ประการ คือ 1 เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดว่าต้องประกาศ 2 เป็นเรื่องที่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารกำหนดว่าจะต้องประกาศ และ 3 เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่ประชาชนควรจะทราบ แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดก็ต้องนำไปประกาศ ดังนั้นเมื่อเป็นเรื่องที่เข้าองค์ประกอบเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็สามารถลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ แต่เมื่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไม่มีการดำเนินการก็ถือว่าเข้าข่ายและเว้นหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมมีความผิดตามไปด้วย ซึ่งตนจะไปร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อเอาผิดเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้อำนวยการฝ่ายอารักษ์ของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อไป
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า หลังจากยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.แล้ว ก็นิ่งนอนใจไม่ได้ โดยตนจะติดตามการดำเนินการของ ป.ป.ช.ต่อไป หากผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ป.ป.ช.ยังไม่ดำเนินการ ตนก็สามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้อีก