เกษตรฯ จัดเวทีชุมชน นำร่องส่งเสริมเกษตรเชิงพื้นที่ 6 แห่งทั่วประเทศ
กรมส่งเสริมการเกษตร จัดเวทีชุมชน นำร่องส่งเสริมเกษตรเชิงพื้นที่ 6 แห่งทั่วประเทศ พร้อมวางแนวทางหนุนกลุ่มเกษตรกรร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าจัดเวทีชุมชน เพื่อสร้างความพร้อมในพื้นที่นำร่องทั้ง 6 แห่งแล้ว ประกอบด้วย 1) แปลงใหญ่ผักปลอดภัย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี 2) วิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
3) แปลงใหญ่มะพร้าว อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา 4) แปลงใหญ่ผัก อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ 5) แปลงใหญ่มังคุด อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช 6) อโวคาโดพบพระ จ.ตาก ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่รวมกลุ่มและดำเนินกิจการเกษตรอยู่แล้ว มีเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นสมาชิกในกลุ่ม และมีแนวคิดขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมในชุมชน เพื่อสนับสนุนให้สามารถดำเนินการตามแผนกิจกรรมที่ร่วมกันกำหนด นำไปสู่การพัฒนาเป็นต้นแบบการทำงานส่งเสริมการเกษตรแบบบูรณาการโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก สามารถนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป
ในการจัดเวทีชุมชนทั้ง 6 แห่ง เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เป้าหมายเกี่ยวกับการดำเนินโครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ และส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์และศักยภาพกลุ่ม โดยนำข้อมูลของกลุ่มที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์ เพื่อจัดทำแผนกิจกรรมพัฒนาศักยภาพกลุ่ม โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์กลุ่มใน
ปัจจุบันและแนวโน้มกิจการเกษตรของกลุ่มในอนาคต ศักยภาพพื้นที่ความต้องการ และความพร้อมของเกษตรกรและชุมชน เพื่อให้ได้แนวทางพัฒนากลุ่มว่า ทำไมต้องพัฒนา และพัฒนาอะไร ใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร มีความเชื่อมโยงกับชุมชนอย่างไร และชุมชนจะได้ประโยชน์อย่างไร ก่อนจัดทำเป็นโครงการพัฒนาของกลุ่มเกษตรกรและชุมชน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการระดับพื้นที่ ในกลุ่มเกษตรกรของตน เพื่อนำเสนอแผนปฏิบัติกิจกรรมและแผนการใช้จ่ายของกลุ่มให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาสนับสนุนได้ตรงตามความต้องการของเกษตรกรอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ โครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เป็นโครงการที่วางแผนใช้กระบวนการมีส่วนร่วม และเกษตรกรรุ่นใหม่ (YSF) ที่มีความพร้อมในการพัฒนาต่อยอดสูง ให้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการพัฒนากิจการเกษตรตลอดจนเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเกษตรกรทุกรุ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรในชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยร่วมขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก และเกิดผลสำเร็จในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยวางแผนตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง คือเน้นสนับสนุนตั้งแต่ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ให้คำแนะนำในการลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพผลผลิต สู่มาตรฐานสินค้าเกษตร ตลอดจนแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างแบรนด์สินค้าเกษตร แล้วเชื่อมโยงช่องทางการตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากและหลากหลายยิ่งขึ้น ผ่านช่องทางขายออนไลน์ หรือช่องทางอื่น เป็นต้น