กรีนพีซจี้ผู้นำอาเซียนเลิกค้าขยะพลาสติก
กรีนพีซ เรียกร้องที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ร่วมกำหนดนโยบายระดับภูมิภาค ยุติการค้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ควบคุมการผลิตและการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และออกแถลงการณ์ร่วมรับมือวิกฤติขยะพลาสติกในภูมิภาค
นางลอา เกเรโร ผู้อำนวยการประจำประเทศฟิลิปปินส์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในงานแถลงข่าว“อาเซียนไม่ใช่ถังขยะของโลก”ว่า ขณะนี้ฟิลิปปินส์กำลังเผชิญกับปัญหาการนำเข้าขยะเป็นประเด็นใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ภูมิภาคอาเซียนก็ตกอยู่ในปัญหานี้ และอาเซียนยังคงเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนย้ายขยะของประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคที่ส่งออกมากำจัดทิ้งที่นี่
นางลอา กล่าวว่า แนวโน้มการนำเข้าขยะพลาสติกในอาเซียนสูงขึ้น โดยมีประเทศมาเลเซีย มากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 872,797 ตัน รองลงเป็นเวียดนามอันดับสอง 492,839 ตัน อันดับ3เป็นไทย 481,381 อันดับ4เป็นอินโดนีเซีย 320,452 ตัน และอันดับ5 เมียนมา 71,050 ตัน ดังนั้นประเทศในอาเซียนควรมีการผลักดันร่วมกันเพื่อบังคับใช้การห้ามนำขยะพลาสติกในระดับภูมิภาค รวมถึงขยะพลาสติกที่นำเข้า โดยอ้างว่า นำมารีไซเคิล นอกจากนี้ ประเทศในอาเซียนจะต้องให้สัตยาบันในข้อแก้ไขการห้ามส่งออกของเสียอันตราย ภายใต้อนุสัญญาบาเซล (Basel Ban Amendment) เพื่อป้องกันการเล็ดลอดข้ามพรมแดนของกากขยะอันตราย
“ที่ผ่านมา การค้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในนามของการรีไซเคิล หรือการใช้ประโยชน์ของวัสดุที่เป็นวัตถุดิบ แต่กากของเสียที่นำเข้ามาส่วนใหญ่มีปลายทางที่หลุมฝังกลบหรือถูกนำไปเผาในพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ” นางลอา กล่าว
นอกจากนี้ นางลอา ยังชี้ว่า สาเหตุที่ประเทศต่างๆ มุ่งส่งออกขยะมายังประเทศในอาเซียน ส่วนใหญ่จากการที่มีกฎหมายหละหลวม แรงงานราคาถูก มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและโรงงานต่ำ ทำให้ถูกกดดันจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
ด้านนายเฮงเคียะ ชุน ผู้ประสานงานรณรงคกรีนพีซ ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นเป้าหมายในการส่งออกขยะพาสติกและรีไซเคิลจากสหรัฐ และอียู ส่วนใหญ่จากประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาไร้พรมแดน และเป็นประเด็นใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน และระดับโลก ที่ต้องการให้ผู้นำประเทศวางกลยุทธ์และกำหนดนโยบายระดับประเทศ และภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนยุติการนำเข้าขยะจากประเทศต่างๆ รวมถึงการผลักดันนโยบายโดยมีเป้าหมายให้ประเทศต่างๆทั่วโลกหยุดการผลิต และใช้พลาสติก
“นี่คือความท้าทายร่วมกันของอาเซียน สมาชิกอาเซียนทุกประเทศต้องออกแถลงการณ์ร่วมกันอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติการนำเข้าขยะพลาสติกเข้ามาในภูมิภาค และวางระบบเพื่อสนับสนุนโลกที่ยั่งยืน ปราศจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทั้ง” เฮง เคียะ ชุนกล่าว
ด้านนางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (Earth Foundation) เปิดตัวรายงานการศึกษาการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ระหว่างปี 2557-2561 (จนถึงเดือน มิ.ย. 62) ว่า การนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
นางเพ็ญโฉม ชี้ว่า นับตั้งแต่จีนเข้มงวดมาตรการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในปี 2561 ซึ่งก่อนหน้านี้ จีนเป็นประเทศเป้าหมายที่ประเทศต่างๆ ส่งออกขยะพลาสติก ทำให้จีนเกิดปัญหาขยะล้น และพยายามที่จะส่งออกระบายขยะพาสติกไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนอย่างไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเมียนมา
สำหรับประเทศไทยแล้ว จีนส่งออกขยะพาสติกมายังไทยประมาณ 63,753 กิโลกรัมในปี 2561 และจีนยังได้มีการตั้งโรงงานรีไซเคิลขยะในไทยด้วย นอกจากนี้ ยังมีอีก 81 ประเทศทั่วโลกมายังได้ส่งออกขยะมายังประเทศไทย อาทิ สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย
“หากแต่ผู้นำรัฐบาลเห็นโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ประชาชนต้องจ่ายค่ารักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้ประเมินราคาได้ หากผู้นำอาเซียนยอมรับถึงความรับผิดชอบในการพัฒนาความมั่นคงที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียวตามพันธกิจของอาเซียนที่มีต่อระเบียบวาระ ปี 2573 โดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นหมายถึงว่า ต้องยุติการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกสเข้ามาในภูมิภาค โดยอ้างความต้องการประเทศพัฒนาทันที” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าว
ขณะที่นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเรียกร้องผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ ออกแถลงการณ์ร่วมที่มีต่อวิกฤติขยะพาสติกในภูมิภาค พร้อมกันนี้ กรีนพีซได้เสนอยุทธศาสตร์ 3 ประการต่อชาติอาเซียนได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนเร่งด่วน ดังต่อไปนี้ 1.ประเทศสมาชิกอาเซียนทำงานร่วมกันเพื่อบังคับใช้การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ในระดับภูมิภาค รวมถึงกากของเสียที่นำเข้ามาในนามของการรีไซเคิล โดยรับรองว่าประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะให้สัตยาบันในข้อแก้ไขการห้ามส่งออกของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลเพื่อป้องกันการเล็ดลอดข้ามพรมแดนของกากของเสียอันตราย
2.การสร้างนโยบายระดับภูมิภาคแบบองค์รวมที่มุ่งสู่การลดการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างมีนัยสำคัญและเอื้อให้เกิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำและระบบทางเลือกในการจัดส่งและกระจายสินค้า และ 3.การผลักดันกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมบนพื้นฐานของแนวทางขยะเหลือศูนย์ (zero waste)ที่ปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพึ่งพาแบบแผนการถลุงใช้ทรัพยากร การผลิต การบริโภคและการเกิดของเสียอย่างไร้ขีดจำกัด