"ประธานฯชวน" บอกที่ประชุมสภาส.ส.เตรียมตัว สัปดาห์หน้าเปิดวาระกระทู้ถาม "รัฐบาลคสช." หลังมีส.ส.ยื่นกระทู้เรียงคิว 20 เรื่อง
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม มีวาระรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ และรับทราบกรณีที่นายสุทัศน์ เงินหมื่น เลื่อนลำดับเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ แทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกและให้นายสุทัศน์ กล่าวคำปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงาว่าในการประชุมดังกล่าวที่ประชุมยังมีมติให้ขยายเวลาการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เสนอให้ขยายเวลาอีก 20 วันจากที่จะสิ้นสุดวันที่ 27 มิถุนายนนี้ เพื่อให้การพิจารณารายละเอียดเป็นไปอย่างรอบคอบ รวมถึงการพิจารณาเนื้อหาตามหมวดที่ต้องบัญญัติใหม่ เช่น บทบัญญัติว่าด้วยผู้นำฝ่ายค้าน , คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องใช้เวลาพิจารณาให้รอบคอบ
ทั้งนี้นายชวน ให้ความเห็นต่อประเด็นการขยายเวลาร่างข้อบังคับด้วยว่า หากข้อบังคับการประชุมสภาฯสามารถทำได้รวดเร็ว จะทำให้การตั้ง กมธ.สามัญประจำสภาฯ ทำได้รวดเร็ว ทั้งนี้ตนเห็นด้วยที่จะเสนอให้ขยายเวลาตามที่กมธ. เสนอมาอีก 20 วัน
จากนั้นนายชวน แจ้งต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันมีส.ส. ยื่นกระทู้ถามและญัตติเข้าสู่ระเบียบพิจารณา รวมแล้ว 20 เรื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นกระทู้สอบถามต่อการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยปัจจุบันมี รัฐมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งสิ้น 17 คน ตนได้ประสานไปยังรัฐบาลให้เข้าชี้แจงและตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับแจ้งว่าพร้อมจะมีส่วนร่วม ดังนั้นในสัปดาห์หน้าของให้ สมาชิกสภาฯ เตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมประชุม ส่วนจะเป็นกระทู้เรื่องใดบ้างนั้นต้องรอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องตอบกลับมายังสภาฯ ก่อนว่าจะมีความพร้อมหรือไม่ หากมีความพร้อมตอบคำถามตนจะบรรจุในระเบียบวาระ
ต่อกรณีดังกล่าว ร.ท.วิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ทักท้วงว่า ครม. ที่เหลืออยู่ 17 คนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือออกคำสั่งใดได้ เพราะได้พ้นสภาพไปตั้งที่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น นายกฯคนใหม่ ซึ่งเป็นไปตามารัฐธรรมนูญ มาตรา 167(1)
ทำให้นายชวนกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลมาตรา 264 กำหนดให้ ครม.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนมีรัฐธรรมนูญใหม่ ให้เป็น ครม. อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีครม. ชุดใหม่ทำหน้าที่ ดังนั้นรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช่คณะรักษาการ ซึ่งเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญกำหนดให้สถานะรัฐบาลยังคงอยู่ ทั้งนี้แม้จะไม่มี ครม. ชุดใหม่ แต่ปัญหาชาวบ้านมีมาก กับการตอบคำถามในสภานั้น รัฐบาลไม่ได้อยากมา แต่เป็นหน้าที่ของสภาฯที่ละเลยไม่ได้ จึงไปขอร้องเพื่อให้เกิดความร่วมมือ หากรัฐบาลพร้อมจะมาตอบ แต่หากไม่พร้อมจะไม่มา