'ฉัตรกมล' นั่งนายกฯ สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยคนแรก
“ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล” นั่งนายกฯ สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยคนแรกของประเทศ
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.62 นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดการเลือกตั้งนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย คนแรกของประเทศไทย
ทั้งนี้โดยมีกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และกลุ่มปลูกทุเรียนแปลงใหญ่ทั่วประเทศเข้าร่วม เปิดเผยว่าผลจากการเลือกตั้ง ปรากฏว่า นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล จังหวัดชุมพร ได้รับการแต่งตั้ง เป็นนายกสมาพันธ์คนแรก ที่มีสโลกแกน วิสัยทัศน์ สร้างความเข้มแข็ง มั่นคง และประสานประโยชน์ความร่วมมือเพื่อชาวสวนทุเรียนให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพส่วนอุปนายก มี 3 คน ประกอบด้วย นายธีรภัทร อุ่นใจ จ.จันทบุรี นายสัมฤทธิ์ ม่วงประเสริฐ จ.ศรีสะเกษ และนายประโยชน์ พรหมสุวรรณ จ.ประจวบคีรีขันธ์
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าทุเรียนเป็นราชาผลไม้ไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศ มีความสำคัญต่อภาคเกษตรไทยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก กระแสความนิยมของการปลูกทุเรียนในปัจจุบันนับว่ามีทิศทางที่สูงขึ้น เห็นได้จากการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งประเทศขณะนี้มีมากถึง 32 จังหวัด (ข้อมูลเอกภาพสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2561) ข้อมูลสถานการณ์การผลิตทุเรียนทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2557 – 2561
พบว่า เนื้อที่ยืนต้นเพิ่มขึ้นจาก 666,505 ไร่ เป็น 839,725 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.62 เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจาก 570,567 ไร่ เป็น 654,509 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.82 เมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจาก 631,774 ตัน เป็น 737,065 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.29
ขณะที่มูลค่าและปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2561 เป็นเงิน 35,333 ล้านบาท ปริมาณ 530,226 ตัน ซึ่งเพิ่มจากปี 2560 ที่มีมูลค่า 24,847 ล้านบาท ปริมาณ 513,883 ตัน และจากข้อมูล 4 ปีที่ผ่านมา (2558 – 2561) ประเทศไทยส่งออกทุเรียนเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน โดยมีประเทศจีนเป็นตลาดหลักในการส่งออก
กรมฯในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ตระหนักถึงแนวโน้มการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งประเทศ ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557 - 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 655,505 ไร่ เป็น 839,725 ไร่ โดยมีเกษตรกรที่มีความสามารถโดดเด่นเป็นเกษตรกรต้นแบบที่ดี (best practice) พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน ซึ่งกระจัดกระจายหลายภาคทั่วประเทศ
การจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยครั้งนี้ จะทำให้เกิดการผลิตทุเรียนคุณภาพสร้างมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้ทุเรียนเป็นต้นแบบการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ด้วยความสามารถขององค์กรเกษตรกรเอง มีการขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดรวมทั้งมองถึงการแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดผูกขาดอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการทุเรียนในอนาคตได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนจะได้ปรับเปลี่ยนการผลิต มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนในการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น มีการวางแผนที่ดีลดความเสี่ยงการผลิตสินค้าซึ่งมากเกินความต้องการ ถือเป็นการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ ด้วยวิถีทาง แห่งนวัตกรรม การเพิ่มมูลค่าและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามนโยบายเกษตร 4.0