'ชญานี โปขันเงิน -ชยันต์ อัคราทิตย์ ฟ้องแพ่งคณะกรรมการวินัย ก.ล.ต.202 ลบ.
'ชญานี โปขันเงิน -ชยันต์ อัคราทิตย์' ยื่นฟ้อง คณะกรรมการวินัย 'สุชาดา ภวนานันท์ -สมจินต์ ศรไพศาล -ปวีณา ศรีโพธิ์ทอง -ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ -วชิรา ณ ระนอง ' เรียกค่าเสียหายมูลค่า 202.58 ล้านบาท กรณี ลงโทษสั่งพักเป็นผู้บริหาร เมื่อปี 2560
นางสาวชญานี โปขันเงิน ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)คิงส์ฟอร์ด กล่าวว่า ในวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำสั่งรับฟ้องคดีที่นายชยันต์ อัคราทิตย์และตนเองที่ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 202 .58 ล้านบาท จากคณะกรรมการวินัยของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นางสุชาดา ภวนานันท์ ,นายสมจินต์ ศรไพศาล นางปวีณา ศรีโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) และนางวชิรา ณ ระนอง จากกรณีที่ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาลงโทษพักการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ป็นเวลา 1 ปี ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560- เดือนสิงหาคม 2561
ขณะที่นางสาวชญาและนายชยันต์ ยืนยันว่า การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกรณีดังกล่าว เป็นไปเพื่อยกระดับการลงโทษทางวินัยแก่บุคคลากรในตลาดทุนของสำนักงาน ก.ล.ต เพื่อให้เกิดโปร่งใส ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคล ให้โอกาสและความยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา และยึดมั่นตามกฏหมายของประเทศ
ทั้งนี้21 ส.ค.ปี2562 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จะมีการนัดพิจารณาชี้ประเด็นเกี่ยวกับมูลการฟ้อง หลังจากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ถึงจะรู้ผลคำพิพากษาตัดสิน ขณะที่กรณีการฟ้อง นายรพี สุจริตกุล อดีตเลขาธิการก.ล.ต. หลังจาก ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งยกฟ้อง นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กรณีใช้หลักฐานปลอม ตัดสิน สั่งพักงานเป็นผู้บริหารในตลาดทุน นายชยันต์ อัคราทิตย์ เป็นเวลา1 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.2560 นายชยันต์ นั้นขณะนี้อยู่ระหว่าง ระหว่างกระบวนการศาลฎีกา
อนึ่งคดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบความผิดกรณีการใช้ข้อมูลภายในเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด (มหาชน) (BSEC) และได้เปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดไปแล้วเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ในการตรวจสอบกรณีดังกล่าว ก.ล.ต. พบว่า นางสาวชญานีและนายชยันต์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้มีการซื้อกิจการ BSEC ได้ให้ถ้อยคำต่อ ก.ล.ต. ในลักษณะที่เป็นการให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ถูก ก.ล.ต. ตรวจสอบความผิด โดยบุคคลทั้งสองปกปิดข้อมูลหรือบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับชื่อบริษัทที่จะถูกซื้อกิจการและวันที่เกิดข้อมูลภายใน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญและมีผลต่อการพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายของ ก.ล.ต. ในความผิดกรณีการใช้ข้อมูลภายในข้างต้น
พฤติกรรมของนางสาวชญานีและนายชยันต์ ซึ่งในขณะที่ให้ถ้อยคำเป็นผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ถือเป็นการปกปิดบิดเบือนการให้ข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อช่วยเหลือมิให้มีการดำเนินคดีกรณีการใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งเป็นการขัดขวางการดำเนินการตามกฎหมายของ ก.ล.ต. จึงถือเป็นการกระทำที่เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทลธ. 8/2557 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ก.ล.ต. จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ทั้งในตำแหน่งผู้บริหารและผู้แนะนำการลงทุนของนางสาวชญานีและนายชยันต์ เป็นเวลา 1 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2560