“พปชร.” เอาคืนฝ่ายค้าน ไม่รอสภาฯ จ่อยื่นตรงถึงศาลรธน. ขอให้วินิจฉัย 33 ส.ส.ถือหุ้นสื่อขาดคุณสมบัติ ด้าน “ทศพล” หัวหน้าทีมสู้คดีขีดเส้นสัปดาห์หน้า ยกร่างคำร้องแก้ข้อกล่าวหาเสร็จ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วยนายทศพล เพ็งส้ม หัวหน้าทีมต่อสู้คดีหุ้นสื่อของ 21 ส.ส. เปิดแถลงเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย 33 ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านถือหุ้นสื่อ โดยนายชัยวุฒิ กล่าวว่า ในวันนี้ตนจะขอใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบคุณสมบัติส.ส.ของพรรคฝ่ายค้าน 33 ราย ประกอบด้วย พรรคอนาคตใหม่ 21 คน เพื่อไทย 4 คน เพื่อชาติ 4 คน เสรีรวมไทย 3 คน และประชาชาติ 1 คน ซึ่งได้นำคำวินิจฉัยของศาลที่ยกคำร้องส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 9 ราย มาเป็นหลักในการพิจารณา ทำให้จำนวนส.ส.ที่เดิมตั้งใจจะยื่นให้ศาลตรวจสอบคุณสมบัติกว่า 50 ราย ลดลงเหลือ 33 ราย เนื่องจากเราตรวจสอบวัตถุประสงค์การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท และห้างหุ้นส่วน พบว่าระบุเพียงประกอบกิจการค้ากระดาษ เครื่องเขียน หนังสือพิมพ์ อย่างไรก็ตาม การเข้ายื่นเรื่องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะเชื่อว่าเป็นช่องทางที่สามารถทำได้ และหากยื่นผ่านประธานสภาฯอาจมีความล่าช้า เพราะประธานสภาฯอาจหยิบยกเหตุผลตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำร้องปมหุ้นส.ส. ยังไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งอาจทำให้สภาฯไปเริ่มต้นขั้นตอนดังกล่าว
ด้านนายทศพล กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายและส.ส.มองว่า ประเด็นหุ้นสื่อมีความจำเป็นที่ต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 มีช่องทางให้บุคคลธรรมดา ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคุณสมบัติ ส.ส. ได้ หากยื่นไปแล้ว ศาลไม่รับคำร้อง ก็พร้อมจะไปยื่นเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน
เมื่อถามถึงการเตรียมหลักฐานให้ 21 ส.ส.ยื่นชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ นายทศพล กล่าวว่า แม้ศาลจะยังไม่ส่งสำเนาคำร้องอย่างเป็นทางการมายัง 21 ส.ส. แต่ภายในสัปดาห์หน้า ต้นร่างที่จะแก้ไขข้อกล่าวหาต้องเสร็จก่อน โดยจะยกร่างจากสำเนาคำร้องที่ตนไปยื่นขอคัดมาจากศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะนำมาปรับแก้ไขรายละเอียดตามแต่ละบุคคล ส่วนจะจำเป็นต้องขอขยายเวลายื่นหลักฐานชี้แจงแก้ข้อกล่าหาหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ เพราะในบางกรณีอาจติดขัดเรื่องการขอเอกสารราชการ ซึ่งต้องใช้เวลา นอกจากนี้จะนำรายละเอียดคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีของนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัครส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.สกลนคร และคดีของนายคมสัน ศรีวนิชย์ ผู้สมัครส.ส.พรรคประชาชาติ จ.อ่างทอง มายื่นขอให้ศาลวินิจฉัย เพราะข้อเท็จจริงทั้ง 2 คดีไม่เหมือนกัน จึงมีความจำเป็นต้องนำรายละเอียดทั้งหมดมาวิเคราะห์ เพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
นายทศพล กล่าวอีกว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สั่งให้ 21 ส.ส. ของพรรคต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประเด็นต่อไปจึงต้องนำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาล เพื่อให้เห็นว่าส.ส.ทั้ง 21 คน ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพต้องสิ้นสุดลง