'เครือข่ายต้านเหล้า' จี้สธ.เอาผิดสถานประกอบการจัดแข่งดื่มเบียร์
“เครือข่ายต้านเหล้า” จี้สธ.เอาผิดสถานประกอบการจัดแข่งดื่มเบียร์ ทำนักดื่มเสียชีวิตรวมถึงเร่งกำหราบผับบาร์ที่จัดกิจกรรมลักษณะเดียวกัน พร้อมเร่ง ปชส. อันตรายจากการดื่มปริมาณมากในเวลารวมเร็ว
วันนี้ (3 กรกฎาคม) เวลา10.00 น.ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ (Alcohol Watch) พร้อมด้วย นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึง ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงบังคับใช้กฎหมายกับสถานประกอบการที่จัดกิจกรรมแข่งขันดื่มเบียร์ จนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันเสียชีวิตตามที่ปรากฏเป็นข่าว รวมถึงไปถึงผับบาร์รายอื่นๆที่มีการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
ทั้งนี้เครือข่ายฯได้นำหลักฐานที่ประชาชนร้องเรียน กิจกรรมแข่งขันดื่มเบียร์ ตามสถานบันเทิง มีการโฆษณา เชิญชวนให้ลูกค้ามาร่วมแข่งขัน หรือแข่งขันกันเองในงานเลี้ยง ทางสื่อออนไลน์มามอบให้กระทรวงเพื่อเป็นหลักฐานเอาผิดด้วย
นายคำรณ กล่าวว่า จากข่าวที่ปรากฏมีผู้เสียชีวิตจากการแข่งขันดื่มเบียร์ ขึ้นในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น ซึ่งปัจจุบันกิจกรรมลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมในสถานบันเทิง สถานประกอบการเกี่ยวกับธุรกิจแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่กิจกรรมงานเลี้ยงต่างๆ โดยผู้ที่ร่วมกิจกรรมอาจจะยังไม่รู้ถึงพิษภัย อาจจะด้วยความคึกคะนองหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนเป็นอันตรายถึงชีวิต ประกอบกับกลุ่มธุรกิจสุรา หรือสถานบันเทิง ได้ฉวยโอกาสในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายและเชิญชวนให้ผู้บริโภคเข้าร้านเพื่อร่วมการแข่งขันชิงรางวัล ซึ่งเข้าข่ายลักษณะความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในหลายมาตรา
นายคำรณ กล่าวว่า ในฐานะที่กระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทหน้าที่โดยตรงเนื่องจากเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เครือข่ายฯจึงขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องดังนี้
1. ขอให้เร่งติดตามตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยเป็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30(4) มาตรา 30(5) ว่าด้วยการห้ามส่งเสริมการขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 29(2) ว่าด้วยการห้ามขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ รวมทั้งอาจผิดมาตรา 32 เรื่องการโฆษณาตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีปรับไม่เกิน 500,000 ปรับ รวมถึงปรับรายวันอีกวันละ 50,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
2. โปรดสั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจสอบการจัดกิจกรรม ในลักษณะการส่งเสริมการขายโดยการแข่งขันดื่มเบียร์ สุรา หรือกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ เช่น โปรโมชั่นเบียร์บุฟเฟ่ต์ ในสถานประกอบการ หรือสถานบริการเกี่ยวกับธุรกิจแอลกอฮอล์ ดังกล่าวทั่วประเทศ เพราะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551และให้เร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกฎหมายเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำความผิด
3. ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อผลกระทบ และอันตรายต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณมาก หรือการจัดแข่งขันการดื่มลักษณะดังกล่าวให้ชัดเจน เพราะอาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบในกลุ่มนักดื่ม นำมาซึ่งความสูญเสียได้ และ 4. ขอเรียกร้องผ่านไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้จัดงานขั้นเด็ดขาดเนื่องจากมีผลกระทบถึงขั้นเสียชีวิต ต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความสูญเสียครั้งนี้เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งนี้เครือข่ายได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือในทางกฎหมายทั้งทางเพ่งและอาญากับครอบครัวผู้ที่สูญเสียแล้วหากได้รับการร้องขอ
ด้าน นายชูวิทย์ กล่าวเสริมว่า การจัดกิจกรรมลักษณะนี้มีอันตรายและมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ ด้วยเป็นการดื่มในปริมาณมากหรือเข้มข้นเกินไป ในระยะเวลาอันจำกัด ที่น่าห่วงคือหากพฤติกรรมการดื่มแข่งขันแบบนี้ระบาดลงไปในกลุ่มเด็กและเยาวชนจะอันตรายมาก ด้วยวัยที่คึกคะนอง จึงมีความจำเป็นที่ต้องป้องปราม เรามีกฎหมายอยู่แล้วแต่ต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เสือกระดาษ เจ้าหน้าที่ต้องไม่เพิกเฉยจนลุกลามบานปลาย กระแสแบบนี้ผลประโยชน์จะตกกับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเพียงฝ่ายเดียว ด้วยการกระตุ้นโหมทำการตลาดที่ขาดความรับผิดชอบ แต่ผลกระทบทางสังคมและความสูญเสียจะเกิดกับผู้บริโภคอย่างแน่นอน เหตุการณ์นี้ไม่ว่าใครจะเป็นคนจัด ต้องมีผู้รับผิดชอบ ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องเรียกร้องให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ร้านเหล้าผับบาร์ทั้งหลายรับผิดชอบให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช่โทษแต่ผู้บริโภค ส่งผลให้คนผิดตัวจริงลอยนวล
“เครือข่ายฯ ขอฝากให้ประชาชน สื่อมวลชน ช่วยติดตามแจ้งเบาะแส หากพบการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว และขอให้กำลังใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย เครือข่ายยินดีสนับสนุนการดำเนินงานในการรณรงค์และเฝ้าระวังบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ร่วมกับกลไกของกระทรวงสาธารณะสุข และจะติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดต่อไป” นายชูวิทย์ กล่าว