'ธง แจ่มศรี' เลขาธิการพคท.คนสุดท้าย เสียชีวิตแล้วในวัย 98 ปี
สหายประชาฯ หรือ "ธง แจ่มศรี" เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย คนสุดท้าย เสียชีวิตแล้วในวัย 98 ปี
เพจเฟซบุ๊ค อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ โพสต์ข้อความเช้านี้ระบุว่า ได้รับข่าวจากครอบครัวลุงธงว่า ลุงธงได้เสียชีวิตแล้ว ขอแสดงความไว้อาลัยและคารวะแต่ดวงวิญญาณของลุงธง ที่มีจุดยืนและทัศนะมวลชนจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ทั้งนี้ เช้าวานนี้ (9 ก.ค. 62) ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช. ได้เดินทางไปเยี่ยมและสอบถามอาการของ ธง แจ่มศรี หรือ สหายประชา ธัญญไพบูลย์ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อายุ 98 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจติดเชื้อ ทั้งนี้ อ.ธิดามีความเป็นห่วงมากเพราะท่านชราภาพมากแล้ว
ประวัติ ธง แจ่มศรี
เป็นคนไทยเชื้อสายเวียดนาม เกิดวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2464 ที่บ้านดง หมู่ที่ 8 ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ. พิจิตร หวอตุ่งกับดังกวิ่งแอ็ง บิดามารดาของเขา เป็นชาวเวียดนาม ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการเอกราชเวียดนาม ที่ลี้ภัยมาตั้งถิ่นฐานในสยาม (เซินตุ่ง. 2551)
ช่วงปฐมวัยของธง เขาเข้ารับการศึกษาภาษาไทยและภาษาเวียดนามที่โรงเรียนหนองบัว จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นโรงเรียนของสมาคมรักชาติชาวเวียดนาม โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จ.สกลนคร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จ.อุดรธานี ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และเข้ารับการศึกษาภาษาจีนขั้นพื้นฐานที่โรงเรียนหัวเฉียว ซึ่งเป็นโรงเรียนในจัดตั้งของคณะกรรมการคอมมิวนิสต์จีน
ธงถูกจับกุมในคดีคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ.2479 และจะเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์สยามในปี พ.ศ.2481 ธงเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใต้ดินภาษาไทยฉบับแรกของพรรคชื่อ "มหาชน" ในเดือนมีนาคม 2485 ก่อนจะการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในวันที่ 1 ธันวาคม 2485 ธงได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางชุดที่ 1 ธงดูแลงานกรรมกรในโรงงานยาสูบสะพานเหลือง ในเดือนกรกฎาคม 2487 (ดำริห์ เรืองสุธรรม. 2544) ธงบุกเบิกงานชาวนาภาคอีสานและเดินทางไปเขตจรยุทธประเทศลาว ในช่วงปี พ.ศ.2492–2494
ช่วงมัชฌิมวัย การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2495 เขาได้รับเลือกเป็นหนึ่งในกรมการเมือง, ธงศึกษาที่สถาบันลัทธิมาร์กซ–เลนิน สาขากรุงปักกิ่ง ประเทศจีนช่วงปี พ.ศ.2495–2500,
การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ.2504 ธงได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการกลางและกรมการเมือง, ภายหลังการประชุมสมัชชาครั้งที่ 3 ปี พ.ศ.2504 – 2508 ธงบุกเบิกงานที่เขตงานดงพระเจ้าจนกระทั่งถูกจับกุมในปี พ.ศ.2510 การประชุมคณะกรรมการกลางชุดที่ 3 ครั้งที่ 3 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี พ.ศ.2515 ธงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในกรมการเมืองประจำ โดยที่ธงยังจะอยู่ในคุกจนถึงปลายปี พ.ศ.2516 จึงได้รับการปล่อยตัวและหวนกลับเข้าป่าอีกในช่วงต้นปี พ.ศ.2517 ต่อมาธงได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการกลางชุดที่ 3 ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นในปี พ.ศ.2519,
ช่วงอาวุโสวัย ธงประจำที่ศูนย์กลางพรรค จังหวัดน่าน ก่อนที่จะย้ายศูนย์การนำไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเปิดประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ.2525 ซึ่งธงจึงได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วงปลายปีเดียวกัน ธงจะย้ายมาประจำอยู่ที่เขตงานภาคตะวันตก-ภาคใต้ จนกระทั่งออกจากป่าเมื่อปี 2536 รอยต่อของธง แจ่มศรี และ พคท. จะปรากฏขึ้นอีกครั้งในปลายทศวรรษ 2540 กล่าวกันว่า พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในระบบรัฐสภาอาจจะมีการจัดตั้งขึ้น หากไม่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ปฐมวัยของธง (2464 – 2484)
กำเนิดธงและครอบครัวชาวเวียดนาม (2464-2472)
การศึกษาวัยเยาว์ (2473-2476)
เดินทางเข้ากรุงเทพครั้งแรก (2477)
การถูกจับกุมข้อหาคอมมิวนิสต์ (2479)
กรรมกรโรงสี (2480-2484)
กรรมกรโรงพิมพ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มหาชนฉบับใต้ดิน (2480-2485)
กรรมกรโรงงานยาสูบ(2486-2488)
งานมวลชนชาวนา งานสงครามจรยุทธ ประเทศลาว (2489-2494)
#มัชฌิมวัยของธง (2495-2519)
สถาบันลัทธิมาร์กซ (2495-2500)
สมัชชา พคท. ครั้งที่ 3 (2504)
การบุกเบิกฐานที่มั่นดงพระเจ้า (2506)
การประชุมกรมการเมืองขยายวง (2508)
การถูกจับกุมข้อหาคอมมิวนิสต์ ครั้งที่ 2 (2510-2516)
หวนสู่ป่าอีกครั้ง (2516)
การประชุมกรรมการกลาง สมัยสมัชชาที่ 3 ครั้งที่ 4 (2519
อาวุโสวัยของธง (2520-2550)
การประชุมสมัชชา พคท. ครั้งที่ 4 และการประชุม กบก. ครั้งที่ 1 (2525)
การจับกุมคณะกรรมการกลาง พคท. ชุดใหญ่ ครั้งที่ 1 (2527) ครั้งที่ 2 (2530)
ออกจากป่าเขตงานเพชรบุรี (2536) กลับสู่เมือง (2537)
ปัจจุบัน (2549)
บทบาทและแนวคิดของธง แจ่มศรี ในฐานะ
กรรมการกลางพรรค ชุดที่ 1-3
ว่าด้วยหลักปรัชญาลัทธิมาร์กซ
ตามทัศนะของธง “ลัทธิมาร์กซจะยังคงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย” เนื่องจาก “หลักการวิทยาศาสตร์สังคมของลัทธิมาร์กซที่สอดคล้องกับหลักการวิทยาศาสตร์ธรรมชาตินั้น เมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเทคโนโลยี แต่ความขัดแย้งทางชนชั้นยังคงสูงอยู่เหมือนเดิม”
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตว่า เกิดจากปัญหาการจัดการภายในประเทศ การสร้างประเทศระยะเวลายาวนาน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในขณะที่จักรพรรดินิยมเปลี่ยนยุทธวิธีจากการใช้สงครามล้มล้างเป็นการโน้มน้าวความคิดผู้นำพรรคในรุ่นต่อมา ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้นำเอาหลักลัทธิมาร์กซมาใช้ภายใต้แนวคิดว่า “สังคมนิยมนั้นไม่ใช่สังคมที่จะแบ่งปันความยากจน หากแต่เป็นสังคมที่แบ่งปันความสุข” สังคมนิยมของจีนมิใช่อยู่ที่การต่อสู้ทางชนชั้น หากเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน
แม้ว่าสังคมโลกกำลังถูกครอบงำทั่วด้านจากระบบทุนนิยม ธงก็ยังมีความเชื่อในคาร์ล มาร์กซ ผู้ประกาศตัวว่ายืนอยู่ข้างชนชั้นกรรมาชีพ และรังสรรค์ทฤษฎีลัทธิมาร์กซที่รับใช้ชนชั้นแรงงาน
ว่าด้วยวิวัฒนาการทางสังคม
สังคมมนุษยชาติเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่สังคมบรรพกาล, สังคมทาส, สังคมศักดินา, สังคมทุนนิยม, สังคมคอมมิวนิสต์ ปัจจุบันอยู่ในยุคสมัยสังคมทุนนิยม ซึ่งจะนำไปสู่ระบอบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นสังคมที่ไม่มีชนชั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อธงพิจารณาระบบทุนนิยม เขาเชื่อว่าทุนนิยมจะยืดระยะเวลาได้ยาวนาน เพราะชนชั้นนายทุนมีสำนึกรู้ที่จะรักษาอำนาจและพยายามสร้างรูปการจิตสำนึกให้คนยอมรับในระบบทุนนิยม
ว่าด้วยงานมวลชนและการเคลื่อนไหวมวลชน
หลักการทำงานมวลชนคือ “การศึกษาแนวทางมวลชน มีจิตใจที่รับใช้มวลชนอย่างถึงที่สุด คำนึงถึงผลประโยชน์ที่เป็นจริงของมวลชน” ผู้ปฏิบัติงานพรรคจะต้องเชื่อมั่นว่า “มวลชนจะเป็นผู้ปลดแอกตนเอง มวลชนจะเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์” “การทำงานจะถือว่ามวลชนเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ แต่ชนชั้นปกครองจะถือว่าเขาเป็นเจ้านาย ประชาชนเป็นบ่าวไพร่”
งานมวลชนต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมวลชน ศึกษาจากมวลชน เมื่อเข้าใจมวลชนปลุกระดมให้มวลชนเกิดจิตสำนึก ยกระดับการจัดตั้ง สร้างแกนมวลชน ยกระดับเป็นสมาชิก จัดตั้งหน่วยพรรคนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม ในทัศนะของธงสิ่งที่เป็นหลักประกันในการรวมตัวที่เข้มแข็งก็คือ “การจัดตั้งและจัดตั้ง” ดังคำสอนของเลนิน ปรมาจารย์ของเขา
ว่าด้วยแนวทางการต่อสู้ทางการเมือง
แนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของธง แจ่มศรี เป็นไปตามหลักการลัทธิมาร์กซ-เลนินที่กล่าวว่า “การเมืองคือการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นผู้ปกครองที่กดขี่ขูดรีดกับชนชั้นผู้ถูกกดขี่” “การต่อสู้มีทั้งถูกกฏหมายและผิดกฏหมายมีทั้งปิดลับและเปิดเผย” “การต่อสู้มีทั้งสันติและสงคราม” “เงื่อนไขการต่อสู้ขึ้นอยู่กับชนชั้นปกครอง”
แนวทางการต่อสู้แบบสันติหรืออาวุธขึ้นอยู่กับชนชั้นปกครอง การต่อสู้ด้วยอาวุธใช้ในสถานการณ์การเมืองปิดกั้น เป็นเผด็จการฟาสซิสต์ หากเมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลงชนชั้นปกครองเปิดโอกาสให้ใช้แนวทางสันติ ก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเมือง
ว่าด้วยการจัดการความขัดแย้งบุคคล
ธงจำแนกความขัดแย้งมี 2 ชนิด ได้แก่ “ความขัดแย้งที่ไม่เป็นปฏิปักษ์” กับ “ความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์” เมื่อพิจารณาจากประเด็นนี้ ความขัดแย้งภายในขบวนการประชาชนหรือภายในพรรค ถือเป็นความขัดแย้งที่สามารถแก้ไขได้ไม่ถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน, ส่วนความขัดแย้งระหว่างพรรคกับศัตรู ถือเป็นความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ว่าด้วยประชาธิปไตยรวมศูนย์
การที่จะบรรลุการปฏิวัติประชาชน จะต้องมีระบบการจัดตั้งที่เป็นจริง ธงจำกัดความประชาธิปไตยรวมศูนย์, ว่าเป็นประชาธิปไตยที่มาจากมวลชน รวบรวมความคิดเห็นมวลชนจากหน่วยย่อยขึ้นมาสู่คณะกรรมการหน่วยนำของพรรค จนถือเป็นมติของพรรค แล้วกำหนดให้ทุกเขตปฏิบัติตาม ประชาธิปไตยรวมศูนย์ต้องมีหลักประกันในระบบประชาธิปไตยและมีระเบียบที่แน่นอน เมื่อเสียงส่วนใหญ่มีมติเสียงส่วนน้อยก็ต้องปฏิบัติ, สำหรับธง, “ในกรณีที่เป็นเสียงส่วนน้อย อาจจะสงวนความเห็นต่างไว้ แต่เมื่อผ่านการปฏิบัติก็ค่อยๆ พิสูจน์ว่า ความคิดตัวเองถูกหรือผิด”
ว่าด้วยความรักและสตรีเพศ
ธงมีทรรศนะในการเลือกคู่ครองว่าจะต้องพิจารณาจากทัศนะทางชนชั้น คู่ครองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการงาน ต้องคำนึงถึงชีวทัศน์โลกทัศน์ ทรรศนะว่าด้วยสตรีเพศของธงเริ่มมาจากความสำนึกส่วนตัวและมาจากทัศนะพื้นฐานที่ธงรักและเคารพมารดาเมื่อผ่านการหล่อหลอมจากขบวนการปฏิวัติ ธงจึงถือว่าผู้หญิงหรือมวลชนที่เป็นผู้หญิงก้าวหน้าเหล่านี้ ล้วนเป็นเพศแม่ของตน
ว่าด้วยการสำรวจวิจารณ์ตนเอง
ธงสำรวจวิจารณ์ตนเองในด้านการศึกษาว่า ผ่านการศึกษาน้อย ทำให้ความรอบรู้ความฉับไวต่อปัญหามีน้อย อย่างไรก็ตาม ธงมีโอกาสได้รับการศึกษาท่ามกลางการปฏิบัติ หล่อหลอมให้เขามีอุดมการณ์ในการแก้ไขปัญหาสังคม
ธงสำรวจวิจารณ์ตัวเองถึงการ “เชิดชูบุคคล” ว่า เขายกย่องเหมาเจ๋อตงจากงานเขียน การเชิดชูบุคคลแบบงมงายขัดกับหลักลัทธิมาร์กซ ฝ่าฝืนหลักการประชาธิปไตย เสมือนลัทธิอัตตนิยมหรือวีรชนเอกชน ปฏิเสธบทบาทประชาชนและชนชั้นกรรมาชีพในการสร้างประวัติศาสตร์สังคม
ธงสำรวจตนเองในด้านการต่อสู้ว่า “การต่อสู้ทางการเมืองไม่ใช่เรื่องสมัครเล่น เป็นเรื่องสมัครใจที่ทำไปตลอดชีพ” “สำหรับชั่วชีวิตของผม ที่ยืนหยัดต่อสู้ก็เพื่อแก้ปัญหาของคนจนด้วยกัน เราไม่ได้มักใหญ่ใฝ่สูง แต่สภาวะสังคมบีบบังคับให้เราจะต้องหาทุกวิถีทางที่ทำจะแก้ปัญหาให้ได้”
บทบาทและภาวะการนำ .ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย สมัยที่ 4
ว่าด้วยภาวการณ์นำ
ภาวะการนำตามหลักการพรรคเป็น “ภาวะการนำรวมหมู่” หลักการการนำรวมหมู่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคณะ ไม่ใช่บุคคลคนเดียว ธงเหมาะสมในตำแหน่งเลขาธิการ เขามีคุณสมบัติที่เทียบเท่าหรือไม่ด้อยกว่าคณะกรรมการกลางและกรมการเมืองสมัชชาที่ 3 จากบทบาทการทำงานในขบวนการปฏิวัติกว่า 5 ทศวรรษ , ประสบการณ์ที่มีความทุ่มเท เสียสละ ยืนหยัดในแนวทางลัทธิมาร์กซ, คุณธรรมพื้นฐานในการดำเนินชีวิตที่ประพฤติปฏิบัติตัวที่ดีเป็นแบบอย่าง, และฐานะบทบาทที่เหมาะสม
ธงมีเป้าหมายที่จะให้ภาวะการนำเป็นไปตามหลักการนำรวมหมู่ หากแต่สถานการณ์ความขัดแย้งของคอมมิวนิสต์สากล การรุกทางการเมืองจากรัฐบาล การต่อสู้ด้วยอาวุธที่ถูกทำลาย ขาดช่องทางการสื่อสาร ทำให้การประสานงานและการชี้นำไม่ทันการ ขาดองค์ประกอบของการนำที่สมบูรณ์ ไร้ภาวะการนำรวมหมู่
ว่าด้วยงานนักศึกษาและงานแนวร่วม
ธงกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรค, มวลชน, แนวร่วม โดยมีแนววิเคราะห์ว่าพรรคจะต้องเป็นผู้นำการปฏิวัติ เข้มแข็งด้านการเมือง การจัดตั้งและด้านความคิด เชี่ยวชาญทฤษฎี นโยบาย และยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของลัทธิมาร์กซ-เลนิน และคำสอนเหมาเจ๋อตุง การจัดตั้งเป็นแบบรวมศูนย์ตั้งแต่ส่วนกลางลงไปถึงระดับภูมิภาค มีศูนย์การนำเพื่อกำหนดนโยบายและเข็มมุ่ง กล่าวโดยรวม ความขัดแย้งของพรรคกับแนวร่วมเกิดขึ้นจากลักษณะพื้นฐาน, ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์, บทบาทของพรรคและองค์กรที่ต่างกัน
ว่าด้วยการประชุมสมัชชา 4
ภายหลังการสมัชชา 4 พคท.เป็นพรรคการเมืองที่ต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ มีทิศทางการต่อสู้ มีทฤษฎีและจุดยืนที่แน่วแน่ เป็นพรรคการเมืองที่พัฒนาท่ามกลางการต่อสู้ด้วยความเสียสละ เป็นพรรคการเมืองที่ดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์อันยาวนานทั้งในประเทศและสากล
ธงค้นคว้าวิธีทำงานพบว่า แนวนโยบายและทิศทางการเคลื่อนไหวดำรงอยู่ แต่ปัจจุบันการต่อสู้ด้วยอาวุธไม่สามารถทำได้ ในปัจจุบันเรียกร้องให้กุมการเคลื่อนไหวมวลชนในระบบเปิด ธงจึงทำงานในสองมิติ รักษาแนวความคิดแนวนโยบายพรรคใต้ดินด้านที่สองก็คือ การเคลื่อนไหวมวลชนในระบบเปิดไม่ผิดกฎหมาย
ว่าด้วยการวิเคราะห์สังคมไทย
กล่าวถึงความขัดแย้งในช่วงทศวรรษ 2520 จะต้องกล่าวถึง “กรณีการวิเคราะห์สังคมไทย” ความขัดแย้งนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งการล่มสลายของ พคท. ธงวิเคราะห์สังคมไทยว่าเป็นประเทศทุนนิยมตั้งแต่ช่วงสมัชชา 4 เขาวางเป้าหมายในการผลักดันสังคมให้พัฒนาก้าวไปตามกฎเกณฑ์ของประวัติศาสตร์ที่เขาเชื่อ เพราะแม้สังคมไทยจะเป็นทุนนิยมแล้ว แต่ยังเป็นทุนนิยมที่ไม่สมบูรณ์ยังถูกครอบงำด้วยทุนต่างประเทศ เขาเชื่อว่าการพัฒนาสังคมนั้น “โดยยุทธศาสตร์ต้องทำให้เป็นอิสระ มีเอกราช อธิปไตย และเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ไม่ถูกจักรพรรดินิยมครอบงำ” “การวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทย” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของพรรคที่เกิดขึ้นในช่วงความขัดแย้งทั่วด้านรุมเร้าพคท.
ว่าด้วยการปิดสถานีวิทยุ สปท.
สถานีวิทยุกระจายเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) เริ่มออกอากาศวันแรกในวันที่ 1 มีนาคม 2505 ทีเวียดนาม ย้ายไปจีนในปี พ.ศ.2508 การตัดสินใจกรณีสถานีวิทยุ สปท. มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาวะการนำในแนวหน้ากับแนวหลัง ธงกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างเขาและคณะผู้นำพรรค“แนวหน้า”ในไทย ได้แก่ ธง แจ่มศรี, อุดม สีสุวรรณ, อัศนี พลจันทร ในขณะที่คณะผู้นำพรรค“แนวหลัง”ในจีน ได้แก่ วิรัชและผู้ปฏิบัติงาน สปท. ว่า ฝ่ายธง, มีความเห็นว่า หากจะให้งดการโจมตีรัฐบาล สปท. ปิดไปเสียเลยจะดีกว่า ฝ่ายวิรัชให้ “เปิดสถานีวิทยุ สปท.ต่อไป แต่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกรียงศักดิ์ให้น้อยลง”
กล่าวโดยสรุป ท่ามกลางบริบทสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง มีความจำเป็นที่พรรคจะต้องมีช่องทางการสื่อสารท่าทีพรรคเพื่อชี้นำสถานการณ์ หากฝ่ายนำจะปิด สปท. ก็น่าจะคิดค้นวิธีการทดแทนการกระจายเสียงและข่าวสารก่อน การยุติการกระจายเสียงสปท. จึงเป็นการสิ้นสุดลงในช่องทางการสื่อสารที่แทบจะไม่มีอยู่แล้วสถานการณ์สงคราม ดังนั้นการสิ้นสุดลงของวิทยุ สปท. จึงเป็นการสิ้นสุดลงของพรรคด้วย
ว่าด้วยกรณีสหพันธรัฐอินโดจีน
ธง แจ่มศรี ไม่เห็นด้วยในข้อเสนอเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม ที่พรรคเวียดนามจะเข้ามาช่วยปลดปล่อยภาคอีสาน เนื่องจากการนำกองกำลังติดอาวุธพรรคเวียดนามเข้ามาช่วยปลดปล่อยประเทศไทยนั้น หากประชาชนไม่ยอมรับพรรคเวียดนามก็จะกลายเป็นผู้รุกราน ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็จะกลายเป็นผู้สนับสนุนทหารต่างชาติให้เข้ามารุกรานประเทศตัวเอง การปฏิเสธข้อเสนอนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคเวียดนามตัดความสัมพันธ์กับ พคท. ในปี พ.ศ.2522
จากการศึกษาบทบาทและความคิดของนายธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ในด้านชีวประวัติพบว่า ธงเป็นชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม เกิดในครอบครัวชาวเวียดนามซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการเอกราชเวียดนามที่ลี้ภัยมาตั้งถิ่นฐานในสยาม ครอบครัวของธงมีส่วนสำคัญที่ผลักดันธงเข้าสู่ขบวนการปฏิวัติ
การเป็นนักปฏิวัติอาชีพของธง ผ่านเบ้าหลอมสำคัญจากการปลูกฝังแนวความคิดชาตินิยม ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวเวียดนาม พรรคคอมมิวนิสต์จีน และลัทธิมาร์กซ จากการศึกษาภาษาไทยและเวียดนามที่โรงเรียนของสมาคมรักชาติชาวเวียดนาม โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูลและโรงเรียนอุดรพิทยานุกูลในระดับมัธยมศึกษาที่มีหน่วยเยาวชนจัดตั้งของพรรค ธงเข้ารับการศึกษาภาษาจีนที่โรงเรียนหัวเฉียว ซึ่งมีหน่วยพรรคและครูชาวจีนคอมมิวนิสต์เป็นผู้สอน รวมทั้งเข้ารับการศึกษาลัทธิมาร์กซ ที่สถาบันลัทธิมาร์กซเลนิน ประเทศจีน
เส้นทางชีวิตในขบวนการปฏิวัติของธง ผ่านการถูกจับกุมคดีคอมมิวนิสต์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2479 เขาสมรสกับกรรมกรหญิงโรงงานทอผ้ากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2504 ก่อนที่เขาจะถูกจับกุมครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2510 เป็นเวลา 6 ปี และจะหวนกลับคืนสู่เขตป่าเขาอีกครั้งในปี พ.ศ.2517 จนได้รับตำแหน่งเลขาธิการสมัยสมัชชาที่ 4 ในปี พ.ศ. 2525 และจะกลับสู่เมืองยุติบทบาทกองกำลังติดอาวุธของพรรค ในปี 2537
ในด้านการทำงาน ธงเป็นกรรมกรโรงงานยาสูบสะพานเหลือง, กรรมกรโรงสี จังหวัดสระบุรี, กรรมกรโรงพิมพ์ประชาไท กรุงเทพฯ เขาอยู่ในฐานะฝ่ายนำของพรรคนับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงการยุติบทบาทกองกำลังติดอาวุธ ในนามกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) กล่าวคือ คณะกรรมการกลางพรรคสมัยสมัชชาที่ 1 ปี พ.ศ.2485, กรมการเมืองและคณะกรรมการกลางพรรคฯ สมัยสมัชชาที่ 2 ปี พ.ศ.2495, กรมการเมืองและคณะกรรมการกลางพรรคฯ สมัยสมัชชาที่ 3 ปี พ.ศ.2504 กรมการเมืองประจำสมัยสมัชชาที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2515, กรมการเมือง, คณะกรรมการกลาง และเลขาธิการสมัยสมัชชาที่ 4
ในด้านบทบาทและแนวความคิดของธง แจ่มศรี ในฐานะคณะกรรมการกลาง พคท.ในช่วงปี พ.ศ.2485 จนถึงปี พ.ศ.2524 พบว่าเขาเป็นนักปฏิวัติที่มีแนวคิดมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ (Marxist-Leninism) และเหมาอิสต์ (Maoist) รวมทั้งอุดมการณ์ชาตินิยมจากขบวนการรักชาติชาวเวียดนามในช่วงปฐมวัย กล่าวโดยรวม ธง แจ่มศรีต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ภายใต้แนวทางชนบทล้อมเมือง
ธงมีปรัชญาและแนวคิดหลักในการทำงาน ได้แก่ หลักทฤษฎีลัทธิมาร์กซ-เลนิน (สัมภาษณ์ธง แจ่มศรี, ไฟลามทุ่ง, 2548 : 40), หลักวิวัฒนาการทางสังคมจากสังคมบรรพกาล, สังคมทาส, สังคมศักดินา, สังคมทุนนิยม, สังคมคอมมิวนิสต์, หลักในการทำงานมวลชนที่จะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมวลชน และเชื่อว่ามวลชนเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์, การกำหนดแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองแบบสันติหรืออาวุธขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของชนชั้นปกครอง, พรรคต้องมีระบบการจัดตั้งที่เป็นจริงและมีระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์
ในด้านบทบาทและภาวะผู้นำในฐานะเลขาธิการพรรค สมัยสมัชชาที่ 4 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 จนถึงปี พ.ศ.2549 พบว่า ธงได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรค เมื่อพิจารณาจากสาเหตุปัจจัยดังนี้
ประการแรก) ธงมีบทบาทและประสบการณ์ในการทำงานที่มีความจัดเจน
ประการที่สอง) ธงมีชีวประวัติและประสบการณ์ในการเป็นนักปฏิวัติอาชีพ ในขบวนการปฏิวัติประเทศไทยและขบวนการคอมมิวนิสต์สากล ที่เป็นแบบอย่างในความเสียสละ ยืนหยัดในแนวทางลัทธิมาร์กซ,
ประการที่สาม) คุณธรรมพื้นฐานในการดำรงชีวิต เขาเป็นนักปฏิวัติที่มีท่วงทำนองศีลธรรมรดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย สมถะ, การสำรวจวิจารณ์ตนเอง, การถ่อมตน, การสามัคคีวิจารณ์สามัคคี, การไม่ประพฤติเสื่อมเสียในด้านชู้สาว, รวมทั้งการมีวินัยของกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย
ประการที่สี่) เมื่อพิจารณาฐานะและบทบาทของธง เปรียบเทียบกับบุคคลที่มีบทบาทสำคัญภายในพรรค ได้แก่ ทรง นพคุณ อายุ 73 ปี เลขาธิการสมัยสมัชชา 2 เต็มสมัย, กรมการเมืองสมัยสมัชชา 3, ในช่วงปี พ.ศ.2519 เขามีอาการทางประสาท (พิทักษ์ ชัยสูงเนิน. 2550), วิรัช อังคถาวร อายุ 61 ปี กรมการเมืองประจำและรักษาการเลขาธิการสมัยสมัชชาที่ 3, เขาถูกโจมตีอย่างหนักจากกรณี “วิพากษ์ศูนย์การนำ 3 จังหวัด” ในช่วงทศวรรษ 2510, และในประเด็นเชื้อชาติ กรณี “จางหย่วน” ในช่วงทศวรรษ 2520, วิรัชมีปัญหาด้านสุขภาพ, ดำริห์ เรืองสุธรรม อายุ 59 ปี กรมการเมืองสมัยสมัชชา 3 ถูกจับกุมในช่วงปี พ.ศ.2525 ที่ภาคใต้,
นอกจากนั้น รวม วงศ์พันธ์ กรมการเมืองสมัยสมัชชาที่ 3 ถูกประหารชีวิตในปี พ.ศ.2505, ประเสริฐ เอี้ยวฉาย กรรมการสำนักเลขาธิการ ปี พ.ศ.2504 – 2508, ศูนย์การนำ ปี พ.ศ.2508 - 2515 และกรรมการกลางสมัยสมัชชา 3, ถูกจับกุมในปี พ.ศ.2512 เสียชีวิตในเรือนจำปี พ.ศ.2520, พายัพ อังคสิงห์ ศูนย์การนำปี พ.ศ.2508-2515 และกรมการเมืองสมัยสมัชชา 3 เสียชีวิตในปี พ.ศ.2519, เจริญ วรรณงาม เลขาธิการสมัยสมัชชา 3 เสียชีวิตในปี พ.ศ.2522, โพยม จุลานนท์ กรรมการกลางสมัยสมัชชา 3 เสียชีวิตในปี พ.ศ.2524, กล่าวถึงผู้ที่มอบตัว ได้แก่ อุดม สีสุวรรณ อายุ 62 ปี กรมการเมืองปี พ.ศ.2512-2525 สมัยสมัชชา 3
สำหรับธง แจ่มศรี เขาวางเป้าหมายการนำให้เป็นไปตามหลักการนำรวมหมู่ และหลักการประชาธิปไตยรวมศูนย์ของพรรค หากแต่บริบทสถานการณ์ความขัดแย้งภายในขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย สถานการณ์ความขัดแย้งของคอมมิวนิสต์สากล การรุกทางการเมืองและการทหารจากรัฐบาล ทำให้การประสานงานและการชี้นำไม่สามารถปฏิบัติการได้เท่าทันและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นบทเรียนสำคัญของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ และบทเรียนทางประวัติศาสตร์ในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม (ขอบคุณที่มา -วิทยานิพนธ์ บทบาทและความคิด ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ของ
Nitirat Zapatista )