“เรืองไกร” ยื่นกกต.สอบ 6 ส.ว. ถือหุ้นสื่อ กระทุ้งกกต. ยื่นศาลรธน. หาข้อยุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ของ “นาที” จ่อร้องสอบคุณสมบัติครม.ใหม่ ยกคดี "ธนาธร๐ เหน็บศาลรธน.ล่าช้า
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เข้ายื่นคำร้องต่อกกต.ขอให้ตรวจสอบกรณี 6 ส.ว. ถือครองหุ้นสื่ออาจเข้าข่ายทำให้ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งส.ว. ประกอบด้วย นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร นายศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา นายสม จาตุศรีพิทักษ์ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และ นายอนุมัติ อาหมัด โดยระบุว่า บุคคลเหล่านี้ถือครองหุ้นในบริษัทที่ระบุวัตถุประสงค์การประกอบกิจการ โรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือ พิมพ์หนังสือจำหน่าย ออกหนังสือพิมพ์หรือ บริการจัดเก็บรวบรวม จัดทำ จัดพิมพ์และเผยแพร่สถิติ ข้อมูลในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พานิชยกรรม การเงิน การตลาด รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลในการดำเนินธุรกิจ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของส.ส. 32 คนถือหุ้นสื่อไว้วินิจฉัย รวมทั้งมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสิทธิ์นายคมสันต์ ศรีวนิชย์ ผู้สมัครส.ส.เขต 1 อ่างทองพรรคประชาชาติ จากเหตุถือหุ้นในลักษณะเดียวกันมาแล้ว จึงเห็นว่ากกต.ควรจะพิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
“ก่อนหน้านี้ผมได้ยื่นร้องให้กกต.ตรวจสอบส.ส.ถือครองหุ้นสื่อ โดยมีบางคนถือหุ้นบริษัทที่วัตถุประสงค์การประกอบกิจการค้าเครื่องเขียน แบบเรียน กระดาษ อุปกรณ์ถ่ายภาพ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำฟ้องในส่วนของ 9 ส.ส.โดยเห็นว่าการประกอบกิจการดังกล่าวไม่เข้าลักษณะธุรกิจสื่อ ผมก็จะมีการถอนคำร้องส.ส.ในส่วนนี้กับกกต.”นายเรืองไกรกล่าว
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ตนยังขอให้กกต ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งให้นางนาที รัชกิจประการ ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิทางการเมือง5 ปียุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ในช่วงที่มีการยื่นอุทธรณ์คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะขณะนี้มีความเห็นแตกต่างกันของทั้งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่าจะยังปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่า สมาชิกภาพส.ส.ของนางนาทีสิ้นสุดลงแล้ว เพราะต้องคำพิพากษา แม้จะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ แต่ในชั้นการพิจารณาของศาลนางนาทีให้การรับสารภาพ ดังนั้นจึงควรต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า หลังการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่แล้ว ตนได้ตรวจสอบผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีพบว่ามีหลายคนอาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง อย่างกรณีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็มีปัญหาถือหุ้นสัมปทานรัฐ แต่ยังอยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารวมอดีตรมต.อีก 3 คน ซึ่งอาจถือว่าศาลพิจารณาล่าช้าเมื่อเทียบกับการพิจารณากรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แต่หากศาลเห็นว่านายสุวิทย์ มีความผิดก็ต้องเว้นวรรคการเมืองเป็นเวลา 2 ปี หรือกรณีนายอุตตม สาวนายน รมว.คลังก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกรุงไทย ตนก็จะดำเนินการตรวจสอบต่อ รวมถึงนายวิษณุ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าได้อยู่ร่วมใน ครม.ชุดนายทักษิณ ชินวัตร ออกพ.ร.ก.แปลงสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิต ที่มีผลลามถึงรัฐมนตรีถูกยึดทรัพย์ จะมีปัญหาด้วยหรือไม่เพราะรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตโดยประจักษ์ และต้องไม่ฝ่าฝืนจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรง