'ธนินท์' สั่งเดินหน้า 'ไฮสปีด' เต็มตัว
เจ้าสัวซีพี "ธนินท์ เจียรวนนท์" ลั่นพร้อมขับเคลื่อนรถไฟความเร็วสูงสู่ความสำเร็จ เปิดมิติใหม่ประเทศไทย ย้ำเดินหน้าโครงการไม่กระทบธุรกิจปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2562 เว็บไซต์ www.cp-enews.com รายงานงานสัมมนาวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ครั้งที่ 3/2019 ณ สถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวเปิดใจและให้ความมั่นใจกับคณะผู้บริหารต่อการที่เครือฯเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
นายธนินท์ กล่าวว่า เครือซีพีกำลังลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ที่ไม่ใช่ใหม่เฉพาะระดับประเทศ แต่เป็นเรื่องใหม่ในระดับอาเซียน เนื่องจากประเทศต่างๆ ในแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ต่างยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง ดังนั้นการที่เครือฯเข้ามาช่วยประเทศด้วยการลงทุนพัฒนาโครงการนี้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นที่จับตามอง โดยจะเป็นตัวเลือกที่สำคัญในการลงทุนหรือการย้ายฐานการผลิต
“หลายคนอาจจะมีคำถามในใจว่า ซีพีจะไปรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง ผมอยากให้มองย้อนกลับไปตอนที่ซีพีนำเซเว่นอีเลฟเว่นเข้ามาเปิดในประเทศไทย ช่วงเวลานั้น ทุกคนต่างทัดทาน แม้กระทั่งเจ้าของเซเว่นอีเลฟเว่นเอง ยังบอกผมว่า รอหน่อยดีไหม เวลายังไม่เหมาะ คุณลงทุนตอนนี้ก็เสี่ยงเกินไป แต่ผมกลับคิดต่างและมองว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่ต่างกับเมื่อ 53 ปีก่อน ตอนที่ผมเริ่มทำเรื่องการเลี้ยงไก่หนึ่งหมื่นตัว มีแต่คนบอกว่าจะเป็นไปได้ยังไง ที่คุณจะเลี้ยงไก่หนึ่งหมื่นตัว แน่นอนว่า ถ้าเราทำเองย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ตอนนั้นซีพีไปเรียนรู้จากอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทย”
นอกจากนี้นายธนินท์ ยังได้ยกตัวอย่างถึงการที่เครือฯ เข้าไปลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมว่า เวลานั้นหลายคนปรามาสว่า คนเลี้ยงไก่ คิดยังไงจะมาทำโทรศัพท์ ในเรื่องนี้ประธานอาวุโสมองว่า ข้อมูลคืออาหารสมอง ซีพีทำอาหารคน การทำเรื่องของข้อมูลก็คือการทำอาหารสมอง การดูทีวีก็คือการให้อาหารสมอง ใช้อินเทอร์เน็ตก็คืออาหารสมองเช่นกัน
เคล็ดลับอยู่ที่ “การนำเรื่องที่ยากที่สุด มาทำให้ง่ายที่สุด” ในขณะที่คนเก่งทั่วไป มักจะเลือกทำของง่ายๆแต่ความลับคือ ในโลกนี้ไม่มีของอะไรที่ทำง่ายแล้วจะประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว แต่ต้องทำเรื่องยาก และต้องเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา เพื่อทำให้เป็นเรื่องง่าย จึงจะสามารถประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ
นายธนินท์ กล่าวอีกว่า การที่ซีพีมาทำรถไฟความเร็วสูง ถือเป็นความท้าทาย นับตั้งแต่ทีโออาร์ที่มีความยาก เนื่องจากรัฐบาลได้นำทีโออาร์จากประเทศต่างๆทั่วโลกมาเปรียบเทียบ เพื่อหาข้อดีต่างๆ มาทำเป็นทีโออาร์ที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะต้องการให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด จึงยากมากสำหรับเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างยั่งยืน แต่ซีพีก็ต้องศึกษา นำมาเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เครือฯ ได้ทำเรื่องใหม่
“เมื่อเราเป็นผู้นำ เราต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องกล้าเสี่ยง ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร โดยต้องมองให้ทะลุ เท้าต้องติดดิน ที่สำคัญต้องมีความเข้าใจธุรกิจให้ลึกจริง”
นายธนินท์ กล่าวด้วยว่า รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างรถไฟมาแล้วสี่พันกิโลเมตร หลังจากนั้นมีการสร้างรถไฟเพิ่มขึ้นอีกเพียงสองร้อยกว่ากิโลเมตร ครั้งนี้จึงถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่จะสานต่อโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความพิเศษตรงที่ จีนกับญี่ปุ่นจับมือร่วมกันทำรถไฟความเร็วสูงเป็นครั้งแรก จึงถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการช่วยกันคิดช่วยกันทำ ประสานประโยชน์เพื่อแผ่นดินไทย ซีพีทำธุรกิจในประเทศไทย บนแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ จึงมีหน้าที่ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ดังนั้นต้องทำโครงการนี้ให้สำเร็จ ไม่ใช่ไปรับมาแล้วทำไม่สำเร็จ ก็จะกลายเป็นภาระของประเทศ เมื่อรับมาแล้ว เราต้องทุ่มเททั้งกำลังกาย จิตใจ มันสมอง ทำให้โครงการนี้สำเร็จให้ได้
“
การทำรถไฟความเร็วสูงถือว่าอยู่ในงบประมาณที่สามารถบริหารจัดการได้ จะไม่กระทบธุรกิจที่ถืออยู่ การลงทุนในครั้งนี้อยู่ในวิสัยทำได้และผ่านการประเมินแล้ว” นายธนินท์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานในบ่ายวันนี้ ตัวแทนของเครือซีพี จะหารือครั้งสำคัญกับ การถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เพื่อสรุปรายละเอียดส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าพร้อมส่งมอบ แล้วราว 80% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งหากตกลงกันได้ คาดว่าจะมีการกำหนดการลงนามในสัญญาต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2562 อนุมัติร่างสัญญาร่วมทุนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร มูลค่า 224,544 ล้านบาท ที่ให้รฟท. ลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูล
ในร่างสัญญา ซี.พี.ให้รัฐร่วมลงทุน 10 ปี ตั้งแต่ปีที่ 6-15 ปีละ 14,965 ล้านบาท รวม 149,650 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 117,227 ล้านบาท ซึ่งไม่เกินกรอบวงเงินที่ ครม.กำหนดไว้ 152,457 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 119,425 ล้านบาท
ซี.พี.ยังเสนอผลประโยชน์ให้รัฐ 30 ล้านบาทต่อปี รวม 10 ปี เป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท นอกจากค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชา กว่า 5 หมื่นล้านบาท และค่าใช้สิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาท เป็นต้น (ภาพ-www.cp-enews.com)