สะพัดทุนการเมืองหนุนหลังล้ม 'อีอีซี'
สกพอ. ร่อนหนังสือแจงสื่อ หลังมีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านผังเมืองอีอีซี ทั้งที่เคยชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องไปแล้วหลายครั้งในหลายเวที เชื่อมีกลุ่มทุนการเมืองหนุนหลังให้ล้มอีอีซี
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2562 เวลา 11.30 น. ผู้สื่อข่าวได้รับหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามที่มีกลุ่ม "เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก" ได้ยื่นถึงอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง สำเนาถึงเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ตามหนังสือที่ 1004/1719 ลงวันที่ 19 ก.ค.2562 ซึ่งมีข้อความชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว หลังจากยังมีกลุ่มบุคคลจาก จ.ฉะเชิงเทรา เดินทางออกไปเคลื่อนไหวยังในกรุงเทพฯว่า
ตามหนังสือเครือข่ายเพื่อนตะวันออกวาระเปลี่ยนตะวันออก ลงวันที่ 8 ก.ค.2562 ที่ส่งมาถึงยังอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และสำเนาถึงเลขาธิการคณะกรรมการอีอีซีนั้น ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ระบุกล่าวหาว่า สกพอ. เร่งรัดกระบวนการไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดต่อสาธารณะ และให้ความเห็นว่ามีหลายบริเวณไม่ตรงกับหลักการผังเมืองตามหลักสากล หรือไม่ตรงกับนิยามการผังเมืองตามพระราชบัญญัติการผังเมือง และหรือไม่ตรงกับสุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สกพอ. โดย น.ส.ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ตอบข้อเท็จจริงตามหนังสือว่า ตามความเห็นและข้อสรุปหลายเรื่องในเอกสารที่ส่งมาคัดค้านนั้น ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสมาชิกเครือข่ายและบุคคลทั่วไป สกพอ.จึงได้ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันดังนี้
กระบวนการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินฯ (ผังเมือง) กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ทำงานตามหลักวิชาการผังเมืองเสมอมา การที่อ้างว่า ผังการใช้พื้นที่ของ อีอีซี ไม่ตรงกับหลักผังเมืองสากล และไม่ตรงกับนิยามของผังเมือง จึงเป็นความเห็นที่ผิดกับข้อเท็จจริง
นอกจากนั้นในการจัดทำผังการใช้พื้นที่อีอีซี กรมโยธาธิการฯ ได้คำนึงถึงความสัมพันธ์กับชุมชน สุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากเป็นพิเศษ
เนื่องจากเป็นผังการใช้พื้นที่ครอบคลุมหลายจังหวัด ที่เป็นผังแรก ซึ่งจะต้องให้เป็นต้นแบบของผังการใช้ที่ดินในกลุ่มจังหวัดอื่น ๆในอนาคต ที่มีการคำนึงถึงปัจจัยทางด้านคน สังคม และสภาพแวดล้อมที่ดี เห็นได้จากสาระสำคัญหลักๆ ของผังการใช้ที่ดิน ที่สรุปได้ คือ มีการสงวนรักษาและอนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการกันพื้นที่ป่าไม้ไว้อย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้มีการบุกรุกอีกต่อไป เพื่อสงวนและคุ้มครองดูแลรักษาป่าไม้ สัตว์ป่า ต้นน้ำ ลำธาร และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ โดยกำหนดระยะห่างจากป่าไม้ไว้ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ห้ามตั้งโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน มีการกันที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจน เพื่อสงวนรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในบริเวณแหล่งน้ำ ชายฝั่งทะเล พื้นที่ต้นน้ำ
โดยกำหนดระยะห่างจากริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของแม่น้ำหรือ ลำคลองไว้ ไม่น้อยกว่า 500 เมตร ห้ามตั้งโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกำหนดประเภทการใช้ที่ดินอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพและบทบาทของพื้นที่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่กำหนดเป็นสีเขียว ประกอบด้วย พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงร้อยละ 78 ของพื้นที่ทั้งหมด
สำหรับ จ.ฉะเชิงเทรา ได้ถูกกำหนดให้เป็นที่อยู่อาศัยชั้นดี และส่งเสริมเกษตรกรรมเป็นหลัก ในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่ผ่านมาในบางอำเภอต้องการให้เพิ่มพื้นที่สีม่วง เพื่อเพิ่มโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ และการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น แต่การวางผังเมืองยังคงสงวนพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ไว้อย่างเคร่งครัด ตามหลักวิชาการเพื่อประโยชน์ของประชาชนในอนาคต จึงได้นำปัจจัยการพัฒนาที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตมาเป็นปัจจัยหลักในการใช้พื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
โดยใช้หลักวิชาการผังเมืองสร้างความต่อเนื่องและเชื่อมโยงให้สอดคล้องกัน ทั้งระบบสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมและขนส่ง ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการ ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ ระบบป้องกันอุบัติภัย ซึ่งจะเห็นได้ว่าผังเมืองอีอี ซีได้ถูกวางให้รองรับการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่อย่างมีหลักวิชาการ ในการดำเนินการที่ผ่านมา ได้ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมรับฟังความเห็นถึงกว่า 40 ครั้ง
ส่วนประเด็นที่เครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ ขอให้พิจารณารวม 8 ประเด็นนั้น ขอชี้แจงว่าการกำหนดบริเวณ ต.เขาดิน อ.บางปะกง จ.ฉะชิงเทรา บางส่วนให้รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่อนุรักษ์นิเวศนั้น ได้กำหนดให้พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ และกำหนดพื้นที่บริเวณถัดเข้ามาเป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรมอยู่แล้ว โดยกำหนดระยะห่างจากริมฝั่งตามสภาพธรรมชาติของแม่น้ำหรือลำคลองไม่น้อยกว่า 500 เมตร ห้ามตั้งโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกำหนดรูปแบบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่มีการกำกับดูแล การบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานสากล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
โดยจะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในขั้นตอนขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่น ๆ อย่างเคร่งครัดด้วย เช่น กฎหมายว่าด้วยการขุดดินถมดิน กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายสาธารณสุข กฎหมายโรงงาน กฎหมายการจัดสรร กฎหมายป่าไม้ กฎหมายปฏิรูปที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจสอบการดำเนินงานไม่ให้มีผลกระทบอย่างรอบด้านอยู่แล้ว
ส่วนพื้นที่บริเวณต้นน้ำคลองระบม ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ที่กำหนดให้ที่ดินบางส่วนเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรมนั้น เนื่องจากมีการประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมอยู่ก่อนแล้ว ส่วนพื้นที่ที่เหลือได้กำหนดไว้ให้เป็นที่ดินประเภทเกษตรกรรมและชุมชนชนบทตามที่ร้องขอมาแล้ว
สำหรับที่ดิน ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ที่ไม่ถูกกำหนดประเภทที่ดิน (สีขาว) เป็นที่ดินที่ได้กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ริมแม่น้ำบางปะกง และบริเวณถัดเข้ามาเป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรมอยู่แล้ว โดยมีบางส่วนประมาณ 4 พันไร่ อยู่ภายใต้การกำกับดูของกองทัพเรือ ซึ่งเป็นพื้นที่สงวนไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการทหาร (สีขาว) นั้น เป็นหลักการที่ใช้กันทั่วประเทศ
นอกจากนี้พื้นที่นอกเขตชลประทานใกล้แม่น้ำบางปะกง ใน อ.คลองเขื่อน ได้กำหนดให้เป็นที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรมอยู่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นแหล่งอาหารของพื้นที่ ส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตรและสงวนรักษาสภาพทางธรรมชาติ
"ส่วนโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (ICD) ที่ ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ นั้น เป็นเพียงผลการศึกษาทางวิชาการ โดยสานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในขั้นตอนการจัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินฯ ไม่ได้บรรจุโครงการ ICD เป็นกิจกรรมในการจัดทำแผนผังระบบคมนาคมขนส่ง และหากในอนาคตมีความจำเป็นที่จะต้องทำโครงการดังกล่าว จะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และทำอีไอเอ ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และการขอให้มีบัญชีท้ายกำหนดประเภทโรงงานที่ทำได้ สำหรับที่ดินประเภทเกษตรกรรมและชุมชนชนบท และที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเกษตรกรรมนั้นการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการกำหนด "ข้อให้ และข้อห้าม" ที่ชัดเจน และสอดคล้องกับหลักวิชาการของผังเมือง และมีการกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้อย่างเคร่งครัดแล้ว" รองเลขา อีอีซี ระบุ
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับใน จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ได้มีกลุ่มบุคคลที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการพัฒนาพื้นที่พิเศษ (อีอีซี) อยู่เพียงกลุ่มเดียว ทั้งที่ในเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็นตลอดจนการลงพื้นที่พบปะพูดคุยทำความเข้าใจต่อประชาชนของทางคณะกรรมการอีอีซี โดยรองเลขาฯ ได้ชี้แจงทำความเข้าใจและแจ้งให้ทราบอย่างชัดเจนหลายครั้งแล้ว ว่าพื้นที่ในแต่ละแห่ง เช่น ต.โยธะกา และ ต.หนองตีนนก ไม่ได้อยู่ในแผนของโครงการอีอีซี แต่กลับยังมีการปลุกระดมให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวอยู่อย่างซ้ำซากต่อเนื่องตลอดเวลา
โดยล่าสุดมีกระแสข่าวสะพัดอยู่ในพื้นที่ว่า ได้มีกลุ่มทุนทางการเมืองหน้าใหม่ เข้ามาให้การสนับสนุน และมีการเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านหลายครั้งแล้วในขณะนี้