ป.ป.ช. ฟันแพ็คคู่ 'สุเทพ' คดีทุจริตโรงพักทดแทน-สร้างแฟลตตำรวจ
“ป.ป.ช.” ฟัน แพ็คคู่ “สุเทพ” คดี “ทุจริตโรงพักทดแทน-สร้างแฟลตตำรวจ” เปลี่ยนวิธีประมูล จ่อชง สำนวน “อสส.” ต่อไป
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. ได้ลงมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.)กรณีอนุมัติโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ (โรงพัก)ทดแทน 396 แห่ง ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค1-9 วงเงิน 5,800 ล้านบาท
โดยจากการไต่สวนของป.ป.ช.พบว่า นายสุเทพ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ในขณะนั้น ได้สั่งให้เปลี่ยนวิธีการประมูลการจัดสร้างโรงพักทดแทนจากเดิมที่ใช้วิธีแยกประมูลเป็นรายภาค มาเป็นรวมศูนย์การประมูลเป็นแห่งเดียว ทั้งที่เมื่อเสนอเข้าครม.ไปแล้วถูกทักท้วงจากครม.ในขณะนั้นโดยสั่งให้ไปหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)และสำนักงบประมาณก่อน แต่นายสุเทพไม่ดำเนินการตามที่ถูกทักท้วง โดยยืนยันจะใช้วิธีการประมูลแบบรวมศูนย์ ซึ่งอ้างว่าเป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลางที่อนุญาติให้ทำได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมป.ป.ช.ยังชี้มูลความผิดคดีการอนุมัติโครงการก่อสร้างแฟลตที่พักข้าราชการตำรวจ 163 แห่งทั่วประเทศ ที่นายสุเทพเสนอขึ้นมาพร้อมกันกับคดีโรงพักทดแทนในลักษณะแพคคู่ เนื่องจากเป็นโครงการในลักษณะที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป โดยในส่วนคดีแฟลตที่พักข้าราชการตำรวจ 163 แห่งนั้น ที่ประชุมป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายสุเทพ และพล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับคดีโรงพักทดแทนคือมีการเปลี่ยนวิธีการดำเนินการประมูลก่อสร้างจากแยกเป็นรายภาคมาเป็นวิธีการรวมศูนย์แห่งเดียว จนกลายเป็นต้นเหตุให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดินจำนวนมากในภายหลัง เนื่องจากโครงการไม่เดินหน้า โรงพักและแฟลตหลายแห่งถูกทิ้งร้างจำนวนมาก จึงเห็นว่าพฤติการณ์ของนายสุเทพเข้าข่ายการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ จึงให้ส่งเรื่องดำเนินคดีอาญากับนายสุเทพและผู้เกี่ยวข้อง ไปให้สำนักงานอัยการดำเนินคดีต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำสำนวนให้สมบูรณ์ เพื่อส่งอัยการสูงสุด (อสส.) ภายใน 30 วันหลังจากการลงมติ
อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ ป.ป.ช. เตรียมจะแถลงข่าวเรื่องดังกล่าวให้สาธารณชนรับทราบ