'ธุรกิจ3ล้านราย' สะเทือน! 'ไลน์' รื้อสูตรค่าบริการ
จับตาโมเดลคิดค่าบริการใหม่ "ไลน์ ออฟฟิศเชียล แอคเคาท์" สะเทือนภาคธุรกิจ วงการชี้มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ขณะที่วงการสื่อชี้กระทบต้นทุนพุ่งสูงขึ้น แม้ “ไลน์” เคยระบุก่อนหน้าการรวม LINE@ และ LINE Official Account
จะเป็นผลดีในระยะยาว หวังสร้างแพลตฟอร์มที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ใช้ เร่งทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการ เผย ตัวเลขปัจจุบันไลน์มีแอคเคาท์ธุรกิจใช้บริการกว่า 3 ล้านราย ขณะที่ฟันรายได้ในไทยปี 61 กว่า 2.3 พันล้านบาท เพิ่มจากปี 60 ที่ทำรายได้ 589 ล้านบาท
หนึ่งในแพลตฟอร์มสื่อสารที่ทรงอิทธิพลในไทยอย่าง “ไลน์” กำลังถูกจับตามองในเรื่องของนโยบายการคิดค่าบริการรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะบริการ “ไลน์ ออฟฟิศเชียล แอคเคาท์” ที่ภาคธุรกิจจะมีค่าใช้จ่ายในการยิงข้อความ หรือการบรอดแคสต์สูงขึ้น เป็นภาระที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องจ่ายเพิ่มโดยเฉพาะวงการสื่อสารมวลชนที่ทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคผ่านบริการบรอดแคสต์
จับตา 25 ก.ค.แจงแถลงกลยุทธ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นดังกล่าวกำลังอยู่ในความสนใจ โดยผู้บริหารไลน์ในประเทศรับทราบข้อมูลเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยในวันที่ 25 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ไลน์จะจัดงานแถลงข่าว วิสัยทัศน์พร้อมกลยุทธ์ธุรกิจในปี 2019 พร้อมกับอัพเดทความคืบหน้าของแพลตฟอร์ม หรือโซลูชั่นทั้งเก่า และใหม่ในปัจจุบัน โดยจะมี่ อึนจอง ลี รองประธานกรรมการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจระดับโลก ไลน์ คอร์ปอเรชั่น และ พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ไลน์ ประเทศไทยเป็นผู้แถลง เป็นที่จับตาว่าไลน์อาจจะใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงการปรับโมเดลคิดค่าบริการในครั้งนี้
ก่อนหน้านี้ นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ ไลน์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไลน์เริ่มเปิด LINE@ ให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ได้เข้ามาใช้งาน โดยคนไทยมีการใช้งานโซเชียลมีเดียจำนวนมาก และนำไปสู่การประยุกต์ใช้กับการขายของ
ขณะเดียวกัน ก็เห็นถึงผลเสียเกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการแต่ละรายมีการส่งข้อความสแปมให้แก่ผู้ใช้งานจำนวนมาก จนลูกค้าที่ใช้งานทั่วไป เริ่มเกิดความรำคาญ การส่งข้อความเริ่มเกิด Blind Broadcast ที่ไม่เข้าถึงผู้ใช้มากขึ้น ในมุมของไลน์ไม่ได้อยากเป็นแพลตฟอร์ม ที่สนับสนุนให้ทุกคนส่งสแปมเข้าหากัน
โดย ไลน์ ไม่สามารถเข้าไปจำกัด ปริมาณการส่งข้อความของผู้ประกอบการแต่ละเจ้าได้ ทำให้เดินหน้านำแนวคิด ReDesign เข้ามา เพื่อปรับปรุงให้ LINE@ มีคอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยอยากให้ผู้ประกอบการทุกคนไม่ใช่แค่มองเรื่องของการทำมาค้าขาย แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ทุกคนชื่นชอบ ไม่ใช่เกิดความรำคาญ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้จากเดิมผู้ประกอบการที่ใช้งาน LINE@ ทั้งหมดจะถูกไมเกรดเป็น LINE Official Account (LINE OA)
“ต้นทุน” ภาคธุรกิจสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ ไลน์ ออกมาประกาศปรับโมเดลคิดค่าบริการใหม่ ได้มีการตั้งคำถามโดยเฉพาะเรื่องของค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น (มาก) สำหรับการยิงข้อความ จุดที่ได้รับการวิจารณ์มาก คือ การคิดราคาแพ็คเกจที่ไปกระทบกับการยิงข้อความ โดยคิดแบบตามจำนวนการใช้จริง แทนที่จะเป็นระบบเหมาแบบแต่ก่อน และอาจทำให้เอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการธุรกิจที่มีจำนวนผู้ติดตามมากๆ ได้รับผลกระทบ
ไลน์ ออฟฟิศเชียล แอคเคาท์ แบ่งเป็นแพ็กเกจราคา ได้แก่ แพ็คเกจส่งได้ฟรี 500 ข้อความ/เดือน ตามด้วยแพ็กเกจ Basic ราคาประมาณ 500 บาท ส่งได้ไม่เกิน 2,500 ข้อความ/เดือน หรือเฉลี่ยข้อความละ 0.3 บาท และ PRO ราคา 1,500 บาท ส่งได้ไม่เกิน 10,000 ข้อความ/เดือน หรือเฉลี่ยเริ่มต้นที่ข้อความละ 0.1 บาท ซึ่งต่างจากเดิมที่แพ็กเกจสูงสุดสามารถส่งข้อความได้ไม่จำกัด แต่จำกัดยอด follower อยู่ที่ 300,000 ราย
แอคเคาท์ธุรกิจ 3 ล้านราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับราคาใหม่ครั้งนี้ สร้างอิมแพ็คให้แบรนด์ขนาดกลางและเล็ก รวมถึงเอสเอ็มอีไม่น้อย เพราะถ้าเทียบราคาใหม่กับราคาเดิมแบบคร่าว ๆ ก็เท่ากับว่า แบรนด์เล็กแบรนด์น้อยจะมีต้นทุนจากการทำตลาดรูปแบบนี้เพิ่มขึ้น โดยมีออฟฟิศเชียล แอคเคาท์มากกว่า 3 ล้านราย
โดยกลุ่มค้าปลีกและอาหาร เครื่องดื่ม เป็น 2 ธุรกิจหลักที่ใช้ ไลน์ ออฟฟิศเชียล แอคเคาท์ ค่อนข้างสูง โดยกลุ่มค้าปลีกคิดเป็นสัดส่วน 45% อาหารและเครื่องดื่ม 42% โดยคนไทยส่วนใหญ่ติดตามไลน์ออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์ เพื่อติดตามโปรโมชั่นสูงถึง 67% รองลงมารับข้อมูล 51% ต้องการทิปดี ๆ ประจำวัน 49% และติดตามกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ จากแบรนด์ 49%
ปัจจุบันธุรกิจเกือบทุกรายเลือกใช้ไลน์ ออฟฟิศเชียล แอคเคาท์ ในการสื่อสารกับลูกค้า โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ เช่น กลุ่มธนาคาร ประกันภัย เครื่องสำอาง สินค้าสุขภาพความงาม เป็นต้น รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอีและแม่ค้าออนไลน์
จากข้อมูลไลน์ ประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบัน ไลน์ มียอดผู้ใช้ในไทยแตะ 44 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 63% ของประชากรทั้งประเทศ แบ่งเป็นผู้หญิง 53% ผู้ชาย 47% โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่ใช้เวลาเฉลี่ย 63 นาทีต่อวัน ทำให้แบรนด์และนักการตลาดต่างใช้ช่องทางนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเจาะเข้าหาผู้บริโภค
ขณะที่ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ปี 2560 ไลน์มีผลประกอบการ 589 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นเป็น 2,331 ล้านบาท