อย. กทม. เดินหน้า พัฒนาและแก้ไขปัญหาการใช้ยา ปลอดภัยในชุมชน
อย. กทม. เดินหน้า พัฒนาและแก้ไขปัญหาการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอดภัยในชุมชน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประชุมประสานความร่วมมือการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพกับ คุณศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ กทม. ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 จำนวน 4 ภารกิจ คือ 1.การผลิตสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านอาหารและยา 2.การเสริมสร้างศักยภาพผู้บริโภคด้านความรู้ในการบริโภคและเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม 3.การสร้างและขยายเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของผู้บริโภคในท้องถิ่น และ 4.กระจายอำนาจการตรวจสอบด้านผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องมือแพทย์ เครื่องสําอาง และวัตถุอันตรายในสถานที่จําหน่าย ซึ่ง อย. และ กทม. มีความตกลงร่วมกันให้มีการบูรณาการงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพกับงานบริการปฐมภูมิ (primary care) หรืองานเยี่ยมบ้าน เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคตามกรอบภารกิจของแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และเพื่อให้ประชาชนใน กทม. มีความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อตกลงระหว่าง อย. กับ กทม. จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “อย.กทม.ร่วมใจดูแลการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพปลอดภัยในชุมชน (อบรมครู ก. )” พัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเดือนเมษายน 2562 และได้นำไปขยายผล โดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในพื้นที่เพิ่มเติม อีก 13 แห่ง (อบรมครู ข. ) พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในชุมชนในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา จากนั้นจึงได้จัด “การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหางานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ่ กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันจัดทำแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเภสัชกร พยาบาล นักวิชาการสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขจากศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 13 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
เลขาธิการ ฯ กล่าวต่อไปว่า อย. มีความตั้งใจที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้กรุงเทพมหานครและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยการสนับสนุนด้านเทคนิค และวิชาการเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถนำความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ไปใช้ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ต่อไป