ศาลปค.สั่งเพิกถอน! เลือก 'เลขาธิการ สกสค.' ปี 62 ไม่ชอบด้วยกม.
ศาลปกครองกลาง พิพากษาคดีเลือก "เลขาธิการ สกสค." ปี 62 ไม่ชอบ สั่งเพิกถอน ชี้การประชุมพบผู้สมัครเป็นกรรมการสกสค.มีส่วนได้เสียแม้ไม่ร่วมประชุม แต่ตั้งคนอื่นลงมติแทน ขัดแนวพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ปี 39 ส่งผลประชุมเลือกไม่ชอบ
ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ บ.183/2562 ที่ "นายอรรถพล ตรึกตรอง" ผู้ฟ้อง ยื่นฟ้อง "คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา" (สกสค.) ผู้ถูกฟ้อง โดยคดีนี้ "นายอรรถพล" ผู้ฟ้อง สมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. พร้อมกับผู้สมัครอีก 3 ราย ซึ่งการประชุม สกสค.ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 28 พ.ค.62 ได้มีมติคัดเลือกให้ "นายณรงค์ แผ้วพลสง" ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติราชการแทน รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการ สกสค. ได้มีคำสั่งคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ 2/2562 ลงวันที่ 28 พ.ค.62 แต่งตั้งให้ "นายณรงค์ แผ้วพลสง" ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. โดยให้มาทำสัญญาจ้างภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่ง ซึ้งผู้ฟ้องเห็นว่ามติและคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนมติและคำสั่งข้างต้น
โดย "ศาลปกครองกลาง" พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องเป็นกรรมการและเลขานุการ สกสค. โดยตำแหน่ง การประชุมผู้ถูกฟ้องคดีในการประชุมครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 28 พ.ค.62 เพื่อคัดเลือกเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ซึ่งผู้ฟ้องเป็นผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกด้วยจึงถือว่าผู้ฟ้องเป็นคู่กรณีเสียเอง ในการพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. อันเป็นเหตุสภาพภายนอกที่ผู้ฟ้อง ไม่อาจเข้าร่วมประชุมเพื่อลงมติคัดเลือกได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 13 (1) ผู้ฟ้องจึงไม่อาจเข้าร่วมประชุมเพื่อคัดเลือกเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ได้ รวมทั้งไม่อาจมอบอำนาจบุคคลอื่นให้ปฏิบัติหน้าที่กรรมการเพื่อออกเสียงเลือกเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ได้ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการประชุม"คณะกรรมการ สกสค." ผู้ถูกฟ้อง ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 28 พ.ค.62 "นายอรรถพล" ผู้ฟ้อง ได้มอบอำนาจให้นายวิมล จำนงบุตร รองเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. เข้าร่วมประชุมและลงมติแทน นายวิมลจึงมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. ไม่เป็นกลางตาม มาตรา 16 พระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่กรณีไม่ได้กล่าวอ้างศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามข้อ 92 ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ พ.ศ.2543
นอกจากนี้การที่คณะกรรมการสรรหาฯ รับพิจารณานายณรงค์ แผ้วพลสง และนายวิวัฒน์ อ้นน่วม โดยประกาศรายชื่อให้ผู้สมัครทั้ง 2 รายเป็นผู้มีสิทธิสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ แล้วต่อมาคัดเลือกให้นายณรงค์ เป็นหนึ่งในรายชื่อที่เสนอผู้ถูกฟ้อง ทั้งที่ผู้สมัครทั้ง 2 ราย ยื่นเอกสารประกอบการสมัครไม่ครบถ้วน จึงไม่เป็นไปตามข้อ 3 (1) ของประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 27 มี.ค.62 จึงพิพากษาให้เพิกถอนมติ สกสค.ผู้ถูกฟ้อง ในการประชุมครั้งที่5/2562 เมื่อวันที่ 28 พ.ค.62 เฉพาะส่วนที่มีมติให้นายณรงค์ แผ้วพลสง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. และเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ 2/2562 ลงวันที่ 28 พ.ค.62 ทั้งนี้ให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่ได้มีมติและคำสั่งดังกล่าว ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลคำพิพากษานี้ ยังเป็นเพียงคำตัดสินศาลชั้นต้น ซึ่งคู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ใน 30 วันนับจากวันอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้น