‘อาเซียน’ดึงสหรัฐ-ญี่ปุ่น-อินเดียเชื่อมศก.อินโดแปซิฟิก

‘อาเซียน’ดึงสหรัฐ-ญี่ปุ่น-อินเดียเชื่อมศก.อินโดแปซิฟิก

อาเซียน นำเสนอแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ต่อสหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย หวังให้ช่วยสนับสนุนเทคโนโลยี และนวัตกรรม นำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเมืองอัจฉริยะ เชื่อมโยงภูมิภาค

นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกับประเทศคู่เจรจารายประเทศ หรือพีเอ็มซี ได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย แคนาดา และสหรัฐ ที่มีขึ้นตลอดทั้งวันนี้ (1 ส.ค.) ซึ่งอาเซียนได้หยิบยกแนวคิดอาเซียนต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Outlook) เสนอต่อที่ประชุม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและกิจกรรมการเชื่อมโยงระหว่างกัน

นางสาวบุษฎี กล่าวว่า การหารือร่วมระหว่างรัฐมนตรีอาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งมีนายทาโร่ โคโน่ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นเป็นประธานร่วมกับนายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม โดยที่ประชุมได้หารือถึงการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มุ่งเน้นในสาขาความมั่นคงทางไซเบอร์ สมาร์ทซิตี้ อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (ไอโอที) และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน เข้ามาช่วยสนับสนุนความร่วมมือในยุคสหัสวรรษใหม่

นางสาวบุษฎี กล่าวอีกว่า ในส่วนการประชุมอาเซียนกับอินเดีย ซึ่งมีนายสุพรหมณยัม ชัยศังกร รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย เป็นประธานร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอินเดียกับอาเซียนเห็นพ้องให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบ 3 ฝ่าย ได้แก่ ไทย อินเดีย และเมียนมา ที่จะเป็นประตูและเส้นทางเศรษฐกิจ และการค้าสู่ภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกันในทุกมิติ โดยเฉพาะการสนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เพื่อความเชื่อมโยงด้านการขนส่ง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน โดยอาเซียนมีความพยายามที่จะเจรจาในเรื่องนี้ให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ 

นางสาวบุษฎี กล่าวด้วยว่า ขณะที่ นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีต่างประเทศลาว และนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เป็นประธานร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-สหรัฐ โดยได้หารือการเสริมสร้างหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ และการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ อาทิ ความมั่นคงไซเบอร์ เมืองอัจฉริยะ และความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญของภูมิภาคและของโลก เช่น มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และคาบสมุทรเกาหลี 

"สหรัฐพร้อมจะส่งเสริมการนำเทคโนโลยีชั้นสูง เข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาและสร้างเมืองอัจฉริยะในอาเซียน ขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 26 เมือง ขณะเดียวกันสหรัฐจะเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในช่วงเดือนสิงหาคมนี้" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมอาเซียน-ออสเตรเลียที่จัดขึ้นวันนี้ นายมารีส เพย์น รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ประกาศ โครงการความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขง-ออสเตรเลีย เพื่อการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (MAP-TNC) เพื่อช่วยเหลือประเทศอาเซียน ในการต่อต้านและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค

สำหรับโครงการความร่วมมือดังกล่าวมีกรอบระยะดำเนินการทั้งสิ้น 8 ปี ภายใต้งบประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียหรือประมาณ 640 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือข้ามพรมแดนในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทยและเวียดนาม ทั้งยังช่วยสนับสนุนความพยายามในการปราบปรามภัยที่ร้ายแรงอื่นๆ เช่น การลักลอบค้ายาเสพติด การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก และอาชญากรรมการทางการเงิน