รายงาน: รีสอร์ตรุกป่า?
หลังการตรวจยึดจับกุมพื้นที่แบบปูพรมครั้งใหญ่กลางปี พ.ศ. 2555 โดยการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทั่วประเทศ ที่นำโดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในสมัยนั้นคือ นายดำรงค์ พิเดช
“รีสอร์ตวังน้ำเขียว” จังหวัดนครราชสีมา กลายเป็นที่โด่งดังไปทั้งประเทศในฐานะที่เป็นรีสอร์ตรุกป่า จากที่เคยได้รับการโปรโมทให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศบริสุทธิ์มีโอโซนสูงติดอันดับโลก และพื้นที่ป่าที่กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญในกรณีนี้คือ อุทยานแห่งชาติทับลาน
จากการจับกุมดำเนินคดีเพียงไม่กี่สิบคดีในช่วงแรกๆ จำนวนคดีบุกรุกป่าได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีมากถึง 352 คดี ในจำนวนคดีรุกป่าของอุทยานฯ ทั้งหมด 491 คดี ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในเวลานี้
นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลานคนล่าสุดที่เข้ามารับตำแหน่งและภาระในการดำเนินคดีความต่อในวันนี้ กล่าวว่า ตั้งแต่ตนย้ายมาที่ทับลานครั้งแรก ได้พบว่า ยังมีคดีความที่อยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการอยู่อีกเป็นจำนวนมาก สะท้อนถึงสภาพปัญหาที่ซับซ้อนในพื้นที่ที่อาจจำเป็นต้องอาศัยนโยบายระดับสูงในการช่วยคลี่คลาย
“ความรู้สึกแรกของผมเลย คือ มันต้องหนักแน่ โดยเฉพาะในเรื่องข้อกฎหมายนี่แหละ พอมาทำหน้าที่นี่ผมจึงพบว่า ปัญหาการมีราษฎรอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและการซ้อนทับกันกับ พื้นที่ ส.ป.ก. และอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น ไม่ว่าจะเป็นราษฎรหรือภาครัฐ โดยเฉพาะภาครัฐเองที่ไม่พยายามทำความเข้าใจต่อกฎหมายร่วมกันและแก้ปัญหาให้จบเรียบร้อยตั้งแต่ต้น จนมีลักษณะปัญหาเป็นดินพอกหางหมูมาถึงทุกวันนี้”หัวหน้าประวัติศาสตร์กล่าว
หัวหน้าประวัติศาสตร์กล่าวว่า โดยสภาพแล้ว แต่เดิมอำเภอวังน้ำเขียวเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน แต่กลับถูกพัฒนาไปมากจากเหตุผลที่มีมาตั้งแต่อดีต
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่า พื้นที่บริเวณนี้มีคนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในระยะแรกๆ เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว แต่มีเป็นจำนวนน้อยมากที่อยู่อาศัยถูกต้องตามกฎหมายที่ดินปี พ.ศ. 2497 ซึ่งหมายถึงการไปแจ้งการครอบครองและได้รับเอกสาร สค.1 แสดงสิทธิในการครอบครองเพื่อออกเอกสารสิทธิที่ดินในภายหลัง ส่วนหนึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่แนวร่วมในระหว่างยุคของความขัดแย้งทางความคิดในช่วงต้นทศวรรษที่70
ในเวลาต่อมา ได้มีการประกาศให้พื้นที่เป็นเขตป่าไม้ถาวรในปี พ.ศ. 2506 และเป็นป่าสงวนแห่งชาติ นั่นคือ ป่าสงวนป่าวังน้ำเขียว พ.ศ. 2515 และป่าสงวนป่าแก่งดินสอฯ พ.ศ. 2510 ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานฯ และถูกบุกรุกมากที่สุดในเวลานี้
ในช่วงปี พ.ศ. 2521 ทางการได้ประกาศเขตปฏิรูปที่ดินครอบคลุมอำเภอปักธงชัยซึ่งได้กลายมาเป็นอำเภอวังน้ำเขียวในเวลาต่อมา เริ่มต้นการปฎิรูปที่ดินให้กับผู้ยากไร้ในพื้นที่
สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) จังหวัดนครราชสีมา ได้เริ่มดำเนินการปฏิรูปที่ดินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในปี พ.ศ. 2521 ซึ่งในขั้นตอนการดำเนินการ จะต้องมีการส่งมอบพื้นที่ป่าสงวน โดยต้องถูกประกาศว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมและเพิกถอนสถานะของพื้นที่ก่อนจึงจะนำมาดำเนินการได้
อย่างไรก็ดี กลับพบว่า พื้นที่บางส่วนโดยเฉพาะในบริเวณป่าวังน้ำเขียวและแก่งดินสอที่อยู่ทางตอนเหนือของอุทยานฯ ไม่ได้ถูกเพิกถอนตามกฎหมายเพื่อการดังกล่าว ก่อนที่จะมีการประกาศรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติทับลานในปี พ.ศ. 2524 ส่งผลให้พื้นที่และแนวเขตที่ทับซ้อนกันระหว่าง ที่ดิน ส.ป.ก.และพื้นที่อุทยานฯ ทับลานในบริเวณนี้ ไม่ได้รับการจัดการแก้ไขให้มีความชัดเจนมาจนถึงทุกวันนี้
จากข้อมูลของสำนักงาน ส.ป.ก. นครราชสีมา พบว่า ขอบเขตพื้นที่ดำเนินการเขตปฏิรูปที่ดินที่ทับซ้อนกับขอบเขตของอุทยานฯ ในสองอำเภอ คือ อำเภอวังน้ำเขียว และอำเภอปักธงชัย มีจำนวนมากถึงกว่า 58,000 ไร่
สภาพปัญหาในบริเวณดังกล่าวมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อทหารได้ใช้พื้นที่อพยพแนวร่วมมาตั้งถิ่นฐานด้านล่างในช่วงปี พ.ศ. 2525 โดยแนวเขตของพื้นที่ส่วนนี้ก็ไม่ได้รับการจัดทำให้มีความชัดเจนแต่อย่างใด
หัวหน้าประวัติศาสตร์กล่าวว่า เนื่องจากเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ ส.ป.ก. ทางกรมอุทยานฯ จึงไม่ได้เข้าไปดำเนินการจับกุมในบริเวณนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดปัญหาเนื่องจากราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว มีเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 โดยเฉพาะในช่วงการตรวจยึดจับกุมแบบปูพรมครั้งใหญ่
ซึ่งจากรายงานที่ทางสำนักงาน ส.ป.ก. นครราชสีมา รายงานแก่คณะกรรมาธิการด้านกฎหมายของสภา ในปี พ.ศ. 2555 ทาง ส.ป.ก ได้รายงานถึงการเข้าไปใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์ และที่ดินเปลี่ยนมือในที่ดิน ส.ป.ก. เช่นกัน และอยู่ในระหว่างดำเนินการแก้ไข
อย่างไรก็ดี อช.ทับลาน กลับพบว่า นอกพื้นที่ทับซ้อนออกมาทางด้านใต้ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิสูจน์สิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญของรัฐในการจัดการปัญหาการบุกรุกป่า คือ อนุโลมให้ผู้ที่ถูกพบว่าอาศัยในพื้นที่ป่าได้มีโอกาสพิสูจน์สิทธิของตัวเองว่าอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่า และจะได้รับการอนุโลมให้อยู่อาศัยต่อไปในพื้นที่หากไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งทางอุทยานฯ ถือว่าเป็นการบุกรุกอุทยานฯ
จากการตรวจสอบของหลายฝ่าย พบว่า ที่ดินของอุทยานฯ ที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ ได้เริ่มมีการซื้อขายเปลี่ยนมืออย่างมากมายในช่วงเวลาไล่เลี่ย มติ ครม. ดังกล่าวเป็นต้นมา โดยการซื้อขายเปลี่ยนมือที่พบ จะมีการใช้ ภบท.5 เป็นเอกสารหลักในการซื้อขายแสดงการครอบครองที่ดิน และจนถึงปัจจุบัน นายประวัติศาสตร์กล่าวว่า การซื้อขายที่ดินในลักษณะดังกล่าวมีทั้งนายทุน อดีตข้าราชการระดับสูงในตำแหน่งต่างๆ รวมถึงนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายหน้าค้าที่ดินที่คอยดึงให้คนที่มีอำนาจมาซื้อที่ดินและช่วยกันผลักดันให้มีการเพิกถอนพื้นที่ออกจากการเป็นพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งหากทำได้ พวกเขาก็จะสามารถออกโฉนดที่ดินได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นเรื่องง่ายเพราะต้องมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่ จนเกิดการดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก โดยผู้ถูกดำเนินคดีหลายรายพยายามต่อสู้คดี โดยนำเอกสารใบรับรองว่าที่ดินของตนอยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. มายื่นต่อกระบวนการสอบสวน
ในกรณีของ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ท ได้สะท้อนถึงความพยายามนี้อย่างชัดเจน โดยหัวหน้าประวัติศาสตร์กล่าวว่า ได้มีการออกเอกสารรับรองว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. พร้อมทั้งมีการทำหมุดเขตในช่วงปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะพื้นที่ที่ดำเนินคดีนี้ ไม่ได้เป็นพื้นที่ส่งมอบให้ ส.ป.ก. และยังเป็นป่าสงวนป่าแก่งดินสอ ซึ่งเป็นคนละผืนกับป่าวังน้ำเขียวที่อยู่ตอนบน
หัวหน้าประวัติศาสตร์กล่าวว่า แนวเขตที่ ส.ป.ก. กล่าวอ้างเกินเข้ามาในเขตป่าแก่งดินสอนี้ มีเนื้อที่กว่า 8,000 ไร่ และในบริเวณนี้ ได้ดำเนินคดีกับ โรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ มากถึง 82 คดี
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้พยายามจับกุมดำเนินคดีทางอาญาและทางแพ่งกับผู้บุกรุก และดำเนินมาตรการทางปกครองโดยการบังคับใช้กฎหมายอุทยานฯ มาตรา 22 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งให้ผู้บุกรุกให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้พ้นไปจากเขตอุทยานฯ ซึ่งหัวหน้าประวัติศาสตร์กล่าวว่า ได้ดำเนินการไปแล้ว 207 ราย แต่ก็มีเจ้าของกิจการจำนวนมากร้องไปยังศาลปกครองเพื่อขอการคุ้มครองชั่วคราว เป็นเหตุให้ยังดำเนินกิจการได้ต่อ
หัวหน้าประวัติศาสตร์กล่าวว่า จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง แล้วแก้ไขสิ่งที่คั่งค้างให้ถูกต้อง
“ประเด็นคือ กฎหมายมันอาจขัดกันได้ แต่เราต้องมาคุยกันว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไรแล้วร่วมกันแก้ไขให้เป็นไปตามนั้นด้วยกระบวนการของกฎหมายให้ถึงที่สุด มันคือที่ดินของคนไทยทั้งประเทศที่ต้องได้รับการจัดการดูแลอย่างเหมาะสม
“มันต้องมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา” หัวหน้าประวัติศาสตร์กล่าว
ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้ให้สัมภาษณ์หลังมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการของกระทรวงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่วังน้ำเขียวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก และเขาได้สั่งการให้ทางระดับเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยหารือกันตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว
การดำเนินการกับ 88 การ์มองเต้ รีสอร์ท อย่างน้อย ก็ทำให้การดำเนินการตามกฎหมายไปต่อได้ หลังเกิดความล่าช้าในการดำเนินคดีมาระยะหนึ่ง นายวราวุธกล่าว
ภาพ การปักป้ายประกาศรื้อถอน 88 การ์มองเต้ รีสอร์ท ตามมาตรา 22 วันที่ 26 กรกฏาคมที่ผ่านมา/ อช. ทับลาน