ร้องผู้ตรวจฯส่งศาลรธน. วินิจฉัยนายกฯนำครม.ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน
"ศรีสุวรรณ" ร้องผู้ตรวจฯส่งศาลรธน. วินิจฉัย "นายกฯ" นำครม.กล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน หากเป็นความผิดส่อกระทบครม.เป็นโมฆะ จ่อร้องป.ป.ช.สอบ "ประยุทธ์-วิษณุ" ผิดจริยธรรม
ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน - นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าถวายสัตย์ปฎิญาณเมื่อวันที่ 16 ก.ค. มีเนื้อหาไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 161 บัญญัติ จึงเข้าข่ายเป็นกระทำขัดรัฐธรรมนูญขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัย
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 บัญญัติไว้ชัดว่าถ้อยคำที่นายกฯ และครม.ต้องกล่าวถวายสัตย์ก่อนปฏิบัติหน้าที่มีเนื้อหาอย่างไร ซึ่งการที่พล.อ.ประยุทธ์ นำกล่าวไม่ครบถ้วน จะด้วยจงใจหรือไม่เจตนาที่ไม่กล่าวถ้อยคำในบรรทัดสุดท้ายที่ว่า “ ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ “ เท่ากับเป็นการไม่ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญที่ตนเองเคยเป็นผู้ทำคลอดมาสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. ) จึงถือได้ว่าเป็นละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากปล่อยไว้ในอนาคต นายกฯหรือบุคคลที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณ ก็อาจจะเสริม เติมแต่งหรือใช้ถ้อยคำอื่นที่กฎหมายไม่ได้กำหนดได้เพราะเห็นว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าเรื่องดังกล่าวจบไปแล้ว นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า คนที่ทำหน้าที่ตัดสินไม่ใช่นายวิษณุ การที่นายวิษณุกล่าวเช่นนี้ทำให้หลักฎหมายของประเทศเสียหาย ออกมาพูดในลักษณะชี้นำ เบี่ยงเบนประเด็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิด ตนรับไม่ได้ เพราะทุกคนต้องยึดตามกฎหมาย ซึ่งนายวิษณุถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเพราะเป็นนักกฎหมายของรัฐบาล เคยเขียนตำรากฎหมายมาก็มาก ควรที่จะให้คำปรึกษาในทางที่ถูกต้องรักษาหลักกฎหมายของบ้านเมือง ไม่ใช่แปลความกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และตนก็เห็นว่าการกระทำดังกล่าวทั้งนายวิษณุ และพล.อ.ประยุทธ์ ยังเข่าข่ายผิดมาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองซึ่งก็จะมีการยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไปในต้นสัปดาห์หน้า
“พล.อ.ประยุทธ์ อาจเจตนา หรือจงใจที่จะไม่นำกล่าวถ้อยคำสุดท้ายที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่การไม่ถ้อยคำดังกล่าวให้ปรากฎ ถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน โดยคนจะทำหน้าที่ตัดสินไม่ใช่นายวิษณุ ที่เป็นเนติบริกร เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เรื่องนี้จึงต้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยและหากศาลวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็จะถือว่าการบริหารงานของนายกฯ และครม.เป็นโมฆะ” นายศรีสุวรรณกล่าว