5 ยุทธศาสตร์ดูแลอาหารกลางวัน

5 ยุทธศาสตร์ดูแลอาหารกลางวัน

สพฐ.กำหนด 5 ยุทธศาสตร์ดูแลอาหารกลางวันเด็กให้มีคุณภาพ ตั้งคณะทำงานวิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณอาหารกลางที่เหมาะสม พร้อมเริ่มนำร่องโรงเรียนสอนโค้ดดิ้ง 3,000 แห่งแบบเข้มในภารเรียนที่ 2/2562 อบรมครูเกี่ยวกับการสอนโค้ดดิ้ง เติมเต็มทักษะการจัดการเรียนการสอน

วันนี้ (6 ส.ค.) ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เดินทางไปเยี่ยมชมบรรยากาศในโรงอาหารของโรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ โดยไม่บอกล่วงหน้า ซึ่งได้มีการพบและพูดคุยกับเด็ก ๆ ในระหว่างรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ทั้งนี้ เด็ก ๆ สะท้อนถึงความต้องการเกี่ยวกับเมนูอาหารที่หลากหลายมากขึ้น จากนั้นได้เยี่ยมชมการเรียนการสอนของห้องเรียนต่าง ๆ ห้องสมุด และห้องพักครูด้วย

Surprise (12)

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้สำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน (สกก.) ของสพฐ. ได้สรุปภาพรวมการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ ปี 2562 พบว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากงบประมาณไม่เพียงพอ รวมถึงขาดบุคลากรด้านโภชนาการ ซึ่งได้วางยุทธศาสตร์การบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวัน 5ประเด็น ได้แก่ 1.โรงเรียนต้องบริหารจัดการอาหารกลางวันให้มีประสิทธิภาพ 2.โรงเรียนต้องดำเนินการจัดอาหารกลางวันตาม Program Thai School Lunch 3.ให้สถานศึกษาต้องจัดทำอาหารปลอดภัย 4.ให้โรงเรียนทำเกษตรอินทรีย์ และ5.สร้างเครือข่ายร่วมกับชุมชนผลิตวัตดุดิบจากการทำเกษตรอินทรีย์


นายสุเทพ กล่าวต่อว่าทุกโรงเรียนที่ได้รับงบประมาณจากโครงการอาหารกลางวันจะต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อีกทั้งเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องมีวิธีการช่วยโรงเรียนด้วยว่าจะบริหารจัดการอาหารกลางวันให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นได้อย่างไร ซึ่งโครงการอาหารกลางวันเป็นเรื่องที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยขณะนี้คณะทำงานของสพฐ.กำลังดำเนินการวิเคราะห์การจัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันที่เดิมได้รับในอัตราหัวละ 20 บาทต่อวัน จำนวน 200 วัน รมว.ศธ.มองว่าเป็นอัตราที่ยังไม่ได้มีการขยับมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ดังนั้น คณะทำงานจะเร่งดำเนินการวิเคราะห์ตัวเลขงบประมาณที่เหมาะสมที่จะต้องใช้จ่ายว่าควรจะอยู่ในอัตราหัวละเท่าใดจากนั้นจะเสนอให้ รมว.ศธ.พิจารณาต่อไป


นายสุเทพ กล่าวอีกว่าขณะนี้ สพฐ.ได้นำนโยบายคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมช.ศธ.) มุ่งให้ทุกโรงเรียนจัดการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง สู่การปฏิบัติอย่างเต็มที่ โดยจะเริ่มนำร่องโรงเรียนสอนโค้ดดิ้ง จำนวน3,000 แห่งแบบเข้มในภารเรียนที่ 2/2562 นี้ทันที ดังนั้นในช่วงปิดภาคเรียนนี้ สพฐ.จะมีการตั้งคณะทำงานอบรมครูเกี่ยวกับการสอนโค้ดดิ้ง เพื่อเติมเต็มทักษะการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวให้ครูมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อเปิดภาคเรียนต่อไปครูจะได้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนได้


ทั้งนี้ การเรียนการสอนโค้ดดิ้ง สพฐ.ได้มีการดำเนินการมาเมื่อ 2 ปีที่แล้วโดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขับเคลื่อนการเรียนโค้ดดิ้งสู่โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จำนวน 8,224 แห่ง โดยจัดโครงกาสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียนและสนับสนุนบอร์ดสมองกลฝัง โรงเรียนละ 50 บอร์ด และคู่มือการใช้บอร์ดสมองกลฝังตัว นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้จัดอบรมครูแบบ Unplugged Computer Science เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาการคำนวณที่ไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ โดยอบรมครูโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาสตูล ซึ่งเป็นหน่วยการเรียนรู้ต้นแบบที่มุ่งพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน ระหว่างการอบรมได้มีการบันทึกวิดีทัศน์ และนำไปเผยแพร่ในระบบ New DLTV ช่อง 15 เพื่อให้ครูที่สนใจการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาการคำนวณสามารถรับชมย้อนหลังได้


“การเรียนโคดดิ้งมีความสำคัญเพราะจะให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น ซึ่งการเรียนโค้ดดิ้งจะแบ่งรูปแบบการเรียนแต่ละระดับตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา และยังเป็นการเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย อนาคตจะขยายการเรียนโค้ดดิ้งให้ครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป”นาย สุเทพ กล่าว