นายกฯ ชูทุเรียนยะลาเป็นโมเดลโครงการประชารัฐฯ
นายกฯ ลงพื้นที่ชายแดนใต้ ติดตามโครงการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพ ยะลา ชูเป็นโมเดลโครงการประชารัฐฯ สร้างกลไกแก้ปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ "ผู้ว่าฯยะลา" โชว์ตัวเลขผลผลิตในพื้นที่รวมมูลค่ากว่า 2 พันล้าน
เมื่อวันที่ 7 ส.ค.62 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการติดตามโครงการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพ จังหวัดยะลา ระหว่างตรวจราชการในพื้นที่ จ.ยะลาเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า จ.ยะลาถือเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องทุเรียนซึ่งตนเห็นด้วยกับการดำเนินงานของโครงการทุเรียนคุณภาพ เพราะเห็นแล้วว่า มีการดำเนินงานในลักษณะ “ทำน้อยได้มาก” คือการใช้ทรัพยากรต้นทุเรียนที่เป็นทุนเดิม หันมาดูแล พัฒนาให้ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด และใช้ที่ดินส่วนที่เหลือมาทำกิจกรรมทางการเกษตร เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันเมื่อราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำและขอบของคุณมูลนิธิปิดทองหลังพระที่เข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมมือในรูปแบบประชารัฐในพื้นที่ซึ่งสามารถสนับสนุนให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆต่อไป
ด้านนายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่าจังหวัดยะลา มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 67,164 ไร่ สร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี จังหวัดยะลาจึงได้กำหนดวาระจังหวัด ในการขับเคลื่อนให้จังหวัดยะลาเป็นเมืองทุเรียน (Durian City) แห่งภาคใต้ตอนล่าง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาคุณภาพ การตลาด โดยดำเนินการตามนโยบายของ นายกรัฐมนตรีที่ให้แนวนโยบายในการนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ โดยร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 664 ราย พื้นที่ปลูก 1,125 ไร่ ต้นทุเรียน 22,508 ต้น คาดการณ์ผลผลิต 2,440 ตัน สามารถสร้างรายได้แล้วกว่า 183 ล้านบาท
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจจกรรมปิดทองหลังพระฯกล่าวว่า สถาบันฯได้เข้ามาดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่ปี 2559 ประชากรที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่7หมู่บ้าน ในสามจังหวัดชายแดนใต้ และเห็นศักยภาพด้านการผลิตทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับจังหวัดยะลาให้เป็นเมืองทุเรียนซิตี้ จึงได้ร่วมกับจังหวัดยะลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาทุเรียนให้มีคุณภาพ ในปี 2561 เริ่มต้นกับเกษตรกร 18รายในตำบลตาเนาะปูเตะ อำเภอบันนังสะตา จังหวัดยะลา ตั้งแต่การให้ความรู้ การดูแล บำรุงรักษาไปจนถึงการตลาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ต้นละ 3.5เท่า ปี2562 จึงได้ขยายผลเป็น 664ราย จำนวน22,508 ต้น ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ คาดการจะมีผลผลิต ประมาณ 2,440.20ตัน คาดการจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 160 ล้านบาท
"การดำเนินงานในปีนี้แค่1.4% ของพื้นที่ปลูกทุเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ยังมีศักยภาพอีกมากหากหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น" ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าว