แจง 'ยิ่งลักษณ์' ได้สัญชาติเซอร์เบีย ไม่กระทบตามตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดน
"อธ.อัยการต่างประเทศ" แจง "ยิ่งลักษณ์" ได้สัญชาติเซอร์เบีย รู้ที่อยู่ชัดใช้หลักตอบแทนส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้
เมื่อวันที่ 9 ส.ค.62 นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงข้อกฎหมายและข้อปฏิบัติในการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกรณีที่ขณะนี้ปรากฏข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำคุก 5 ปีไม่รอลงอาญาในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบก่อให้เกิดความเสียหายจากการดำเนินโครงการจำนำข้าวข้าวกระทั่งเอื้อให้เกิดการทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีมทูจี) ได้รับสัญชาติเซอร์เบีย (ประเทศแถบยุโรปตะวันออก) ว่า การได้สัญชาติประเทศอื่น ไม่มีผลต่อการดำเนินการเพื่อจะขอส่งตัวผู้ที่เราติดตามให้เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย เพราะความผิดนั้นก็ยังปรากฏตามคำพิพากษาของศาลไทยอยู่
นายชัชชม อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ กล่าวอธิบายขั้นตอนอีกว่า การดำเนินการเพื่อขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ในเบื้องต้นเราต้องทราบก่อนว่าผู้นั้นหลบหนีไปพำนักในประเทศใด ซึ่งต้องหารายละเอียดพิกัดสถานที่พักในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใดที่เขาพักอยู่ โดยแม้ว่าประเทศนั้นจะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนเราก็สามารถดำเนินการทำคำขอได้ โดยอาศัยหลักต่างตอบแทน กล่าวคือให้คำมั่นต่อกันว่าหากต่อมาประเทศผู้รับคำร้องขอมีคำร้องขอให้ไทยส่งผู้ร้ายให้เขา เราก็ยินดีจะดำเนินการให้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศถือหลักจะไม่ส่งคนสัญชาติตนให้ประเทศอื่นดำเนินคดี ซึ่งในกรณีนี้เราก็จะต้องใช้กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาขอให้ประเทศนั้นดำเนินคดีแทนให้
นอกจากนั้น กรณีประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญา ปกติความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้จะต้องเป็นกรณีที่ทั้ง 2 ประเทศกำหนดให้การกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของตนด้วย
สำหรับกรณีของประเทศเซอร์เบีย กับไทยนั้น เราไม่มีสนธิสัญญาต่อกัน แต่หากเรามีข้อมูลที่ชัดแจ้งเกี่ยวกับที่อยู่ก็สามารถดำเนินการได้ตาม พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 อย่างไรก็ดีในส่วนของการติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น เราก็เคยยื่นคำขอในบางประเทศมาแล้ว โดยถ้าต่อไปมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่พักในประเทศใดก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีจำนำข้าว ที่อัยการสูงสุด ได้ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ เป็นจำเลยนั้น ถือว่าคดีเป็นที่สุดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ แล้ว เพราะไม่ได้มีการยื่นอุทธรณ์คดีทั้งในส่วนของโจทก์ ละจำเลยตามสิทธิกฎหมายที่ออกใหม่เมื่อปี 2560 โดยในส่วนของโจทก์ นายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด ก็ได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 27 ต.ค.60 เห็นว่าศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาจำคุกน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามบทลงโทษที่ได้ยื่นฟ้องคดีแล้ว จึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์อีกต่อไป และเมื่อคดีถึงที่สุดตามผลคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.60 แล้วก็จะต้องดำเนินกระบวนการติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ มารับโทษต่อไป ซึ่งจะไม่มีการนับอายุความ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 มาตรา 74/1