คปอ.แถลงการณ์ชวนพรรคการเมือง-องค์กรสิทธิมนุษยชน ให้สัตยาบันผลักดันร่าง รธน.ใหม่สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.เหมือนครั้งเมื่อปี 2539 ขณะที่ พท.-อนค.หนุน ภาค ปชช.ร่วมแสดงพลังสร้างวาระแห่งชาติ
ที่ห้องประชุมหุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อเวลา 13.30 น."คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ" (คปอ.) และ "พรรคโดมปฏิวัติ" ร่วมจัดเสวนาเรื่อง "3 ปีประชามติ ได้อะไร เสียอะไร เอาไงต่อ ?" โดยมี นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านนโยบายและแผนงาน พรรคเพื่อไทย (พท.) และ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ฝ่ายพรรคการเมือง ร่วมเสวนา กับกลุ่มศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการเสนอแนวทางแก้รัฐธรรมนูญจากฝ่ายพรรคการเมือง
ขณะที่ก่อนการเสวนา "ตัวแทน คปอ." ได้อ่านแถลงการณ์ เสนอข้อเรียกร้อง สรุปว่า ภายใต้บรรยากาศการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่มีรัฐประหารและรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงการทำประชามติ จึงไม่ต่างกับการลงประชามติภายใต้ปากกระบอกปืน อีกทั้งการประสัมพันธ์ก็ล่าช้าไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ ความกลัวและอุปสรรคต่างๆ ข้างต้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้มีเสียงออกประชามติ ออกมาน้อยลงเป็นประวัติการณ์ไม่ใช่เพราะนอนหลับทับสิทธิ์ โดยมีผู้มาออกเสียงประชามติ 16.8 ล้านคน นับประมาณ 34% หรือเพียง 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 50 ล้านคนเท่านั้น จึงเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ผ่านการรับรองจากเสียงข้างมากของคนไทย ทั้งที่เป็นเรื่องของกติกาสูงสุดของประเทศ ต้นไม้พิษ ย่อมให้ผลไม้พิษตามมา "คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ" จึงขอย้ำเช่นเดิมว่าเราไม่ยอมรับกระบวนการการทำประชามติตั้งแต่ต้น รวมทั้งกระบวนการต่อเนื่องภายหลังประชามติ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปี พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้ ยังไม่ผ่านการแก้ไขในหลายมาตรา จึงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นฉบับเดียวกับที่ผ่านประชามติอักต่อไป
พร้อมทั้งยังมีกระบวนการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกอีกหลายฉบับโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ซึ่งสามารถร่างกฎหมายลูกได้ตามต้องการโดยไม่ต้องฟังความคิดเห็นจากประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การปฏิรูปประเทศ ไปจนถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลทหารที่ท่านบอกว่า จะเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู้สังคมที่สันติ ประนีประนอมได้นั้นเป็นเรื่องโกหก เพราะฐานคิดของผู้นำที่มีอำนาจรัฐ สร้างการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยรวมทั้งระบบราชการมองประชาชนเป็นเพียงฟันเฟืองของกลไกทางเศรษฐกิจ เป็นเพียงหุ้นส่วนที่ต้องร่วมจ่าย ผู้บริโภค ผู้ด้อยโอกาสที่ต้องให้การสงเคราะห์ แต่ประชาชนไม่มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองได้เต็มที่
อีกทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญยังเน้นแนว คิดความมั่นคงของรัฐเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างเงื่อนไขทำให้ประชาชนผู้คิดต่างไม่สามารถมีอำนาจต่อรองและกำหนดอนาคตของตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา "คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ" ยังคงเคลื่อนไหวเพื่อแสดง ออกว่าไม่ยอมรับการทำประชามติดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เราได้จัดเสวนารณรงค์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญนี้ในประเด็นต่างๆ หลายครั้งไม่ว่าจะเป็นประเด็นเสรีภาพในการนับถือศาสนา , ความหลากหลายทางเพศ , สิทธิแรงงาน , สวัสดิการสังคม และการศึกษา เป็นต้น เมื่อหวังผลในอนาคตว่า จะมีกระบวนการบอกเลิกให้ประชามติครั้งนี้ เป็นโมฆะหรือถอนต้นไม้พิษนี้เสีย
ในโอกาสนี้ "คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ" จึงขอแสดงจุดยืนเดิมของเราตั้งแต่ก่อนมีประชามติ อีกครั้งว่า 1.ขอสงวนสิทธิ์ไม่ยอมรับ ผลประชามติครั้งนี้ และถือว่าประชามติเป็นโมฆะ หรืออย่างต่ำสุดก็ให้เป็นโมฆียะซึ่ง พลเมืองยังคงสิทธิ์ที่จะบอกล้าง หากรัฐธรรมนูญ ผ่านหรือถูกใช้ก็ให้เป็นเพียงฉบับชั่วคราว 2.ขอเชิญชวนพรรคการเมือง , องค์กรทางการเมือง , องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ร่วมให้สัตยาบันว่าจะผลักดันให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.เหมือนครั้งเมื่อปี 2539 และเปิดให้มีประชามติภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออก และเป็นธรรม ปราศจากความกลัว 3.หรือหากไม่ต้องการให้ตั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ขอเชิญชวนองค์กรต่างๆข้างต้นร่วมให้สัตยาบันว่าจะผลักดันให้มีการทำประชามติใหม่ โดยนำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540, 2550 และ 2560 มาทำประชามติว่าจะเลือกฉบับใดภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัวเช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการเผยแพร่ข้อเรียกร้อง ตามคำแถลงการณ์แล้ว ตัวแทน คปอ. ได้มอบเอกสารคำแถลงการณ์ให้ นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พท. และ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคอนค. เพื่อดำเนินการในทางการเมืองต่อไป
ด้านวงเสวนา น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิธินันท์ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวเริ่มถึงความไม่เป็นเสรีภาพของทำประชามติเกี่ยวกับรัธรรมนูญ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า ความไม่เป็นเสรีภาพ การดำเนินการลงประชามติเป็นเพียงกระบวนการสร้างความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ และสร้างความชอบธรรมให้ คสช.เท่านั้น โดยระหว่างนั้นมีการการดำเนินการข่มขู่คุกคามคนที่ออกมาพูดเรื่องประชามติ เช่น มีทหารบุกริ้อเวที กระทั่งเป็นคดีความที่ศาลทหารขอนแก่นด้วย และคดีส่วนอื่นๆ ด้วยโดยมีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมประชามติ-การฉีกบัตรลงประชามติ 212 คน ซึ่งแม้หลายคดีจะยกฟ้อง หรือบางคดียุติการดำเนินคดีเพราะยกเลิกคำสั่ง หัวหน้า คสช. 3/2558 แต่ต้องถือว่าการไปเยี่ยมบ้าน การข่มขู่คุกคาม และการดำเนินคดีนั้นสร้างภาระแก่คนที่ถูกดำเนินคดี สร้างความหวาดกลัวให้แก่คนในสังคมที่จะออกมาใช้สิทธิ และไม่อาจเรียกได้ว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานั้น Free และ Fair ขณะที่ปัจจุบันเหลือคดียังไม่สิ้นสุดประมาณ 53 คดี ทั้งนี้ส่วนของฝ่ายพรรคการเมือง
นายโภคิน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พท. กล่าวย้อนเปรียยเทียบเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับปัจจุบันถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย ตอนหนึ่งว่า นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตั้งแต่ปี 2475 -2538 ได้มีการเรียกร้องให้รัฐธรมนูญมี1.ให้นายกฯ มาจาก ส.ส. 2.ขอประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานรัฐสภา 3.เรียกร้องให้ ส.ส.สังกัดพรรคเพื่อความมีวินัย 4.ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุ 18 ปีจากที่คนรึ่นใหม่เริ่มมัมากขึ้น นี่คือเบสิกมาก ถ้าเมื่อใดเรารู้สึกว่านี่คือสัญลักษณ์ประชาธิปไตย แล้วหากนายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจาก ส.ส. ถ้าประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจาก ส.ส.ต้องไปอยู่ต่ำกว่าประธานวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้ง แล้วจะอธิบายอย่างไรว่าเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย แต่ก่อนที่จะมาเป็นหลักเช่นนั้นได้ก็มีการออกมาเรียกร้อง จนมีกการยึดอำนาจตัวเอง เช่นในช่วงปี 2514-2515 จากที่เบื่อไม่อยากฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ ส.ส. วันนี้ยังเสียวๆๆ หากเกิดเบื่อขึ้นมาเหมือนกันคงยุ่งอีก ซึ่งหากทำก็คงจะพังพินาศกัน เพราะวันนี้ได้พัฒนามาเกินกว่า ที่จะทำตามใจชอบได้ ต้องฟังกัน ไม่มีใครที่ไม่รักชาติ ไม่มีใครที่ไม่รู้สึกดีกับเพื่อน คนไทยด้วยกัน เราต้องไม่ไปสร้างความเกลียด ความโกรธกันขึ้นมา คนธรรมดาสามัญเขาไม่สร้าง
นายโภคิน กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2550 มาจนถึงปี 2562 นี้ เรากำลังหลงวังวนกับกฎเกณฑ์สูงสุดที่ไม่ได้เขียนเพื่อตอบโจทย์ให้สังคมไทยทั้งประเทศ แต่ให้คนบางกลุ่มบางองค์กรแล้วคิดว่าภายใต้การนำของคนบางกลุ่ม บางองค์กรจะเวิร์ค สังคมนี้เป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรม คนไทยชอบวัฒนธรรมอำนาจนิยม คือคิดตลอดเวลาว่าจะมีฮีโร่สักคนมาช่วย เช่นคิดว่าเมื่อไรจะเอาบัตรคนจนมาแจก เมื่อไรบัตรคนจนจะขึ้นราคาจาก 500 บาท เป็น 1,000 หรือ 2,000 บาท แต่ ถ้าเรามีภาคประชาชน หรือเรียกว่าคนตัวเล็กทั้งหลาย เป็นเน็ตเวิร์คเอื้อซึ่งกันและกัน ไปในทิศทางที่ร่วมกันก็จะเป็นพลัง วันนี้สังคมอยากจะให้แก้รัฐธรรมนูญ ก็จะมี 3 ภาคส่วนใหญ่ๆที่จะเกี่ยวข้องคือ 1.ภาครัฐบาล 2. ภาคธุรกิจที่จะป้องกันการผูกขาดทุนขนาดใหญ่ 3.ภาคประชาชน ที้เรียกได้ว่าตัวเล็กมาก ถูกเรียกเก็บภาษีเต็มเหนี่ยว ส่วนทุนขนาดใหญ่ยังมีทางลดหย่อนภาษีได้ อย่างไรก็ดี หากภาคประชาชนไม่โต ลักษณะ Big People ประเทศนี้ไปไม่ได้แน่ จะเจอแต่ปัญหามหาศาล นี่คือหัวใจทั้งหมด ที่จะต้องทำให้ภาคประชาชนโตให้ได้ นั่นคือต้องให้โตแบบที่เขาจะฟังเราด้วยเหตุด้วยผล รับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร ไม่ใช่โตแบบขอทานต้องพึ่งพาเงินทุนหากเขาให้ความสนใจ เราต้องสร้างสังคมตัวเล็กให้โต หากเราสร้างรัฐธรรมนูญใหม่แต่ยังเขียนแบบเดิม ไม่สร้างสังคมตัวเล็กให้โตอย่าหวังประเทศจะไปได้
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ 1.ด้านเนื้อหา 2.ด้านกระบวนการ ที่ต้องชอบธรรม หากกระบวนการไม่ชอบธรรม ไม่ถูกต้องแล้ว แม้เนื้อหาดีแค่ไหนก็ไปได้ยาก ขณะที่ "นายรังสิมันต์ โรม" ส.ส.พรรค อนค. กล่าวตอนหนึ่งของการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญว่า หากภาคประชาชน ได้ทำคู่ขนานไปด้วย ทำให้เกิดกระแสสังคมทำเป็นวาระแห่งชาติ ก็ยากมากที่อย่างแม้ ส.ว.ซึ่งไม่ได้มาจากเลือกตั้ง จะกล้าปฏิเสธข้อเสนอิ เพราะถึงที่สุดคนเหล่านี้ก็จะอยู่ร่วมกันกับคนในสังคมในโลกใบเดียวกันกับเรา โดยตนเชื่อว่าหากเราสามารถสร้างกระแสสังคมได้ขนาดนั้นก็เชื่อว่าไม่มีใครกล้า ที่ผ่านมาก็เคยเห็นนักการเมืองบางคนที่ต้องยอมปรับปรุงตัวเอง ซึ่งนักการเมืองก็มีหัวใจ
ดังนั้นหากกระแสสังคมไปได้จริงๆ ก็พอที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในเรื่องที่ยังคงมีนักการเมืองไม่น้อย และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า ตอนนี้ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือเรื่องปากท้องประชาชน ไม่ใช่เรื่องรัฐธรมนูญ เราต้องเท่าทันให้ดีว่าคำพูดเช่นนี้ กำลังจะบอกว่าฉันทามติของสังคมวันนี้ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการแก้ปัญหาปากท้อง แต่ จริงๆ คือการต่อสู้ว่าจริงๆแล้วฉันทามติของสังคมคืออะไรมากกว่ากัน วันนี้สังคมไทยไม่ว่าปีกไหน การเมืองแบบไหน เรากำลังแข่งกันว่าฉันทามติของสังคมในวันข้างหน้าคืออะไร ซึ่งส่วนตัวของตนเห็นว่าหากเราแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ เราสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ ก็อย่าหวังว่าประเทศไทยในอนาคตจะมีเศรษฐกิจที่ดี , มีสิทธิเสรีภาพ หรือจะมีการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตนไม่เชื่อเด็ดขาดว่าการเมืองที่ประชาชนไม่สามารถ เข้ามามีส่วนร่วมได้จะเป็นการเมืองที่ดี จะเป็นการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง