'ปลัดแรงงาน' ย้ำ การบูรณาการทำงาน รอบรู้สถานการณ์โลก
"ปลัดแรงงาน" ย้ำ การบูรณาการทำงาน รอบรู้สถานการณ์โลก อำนวยความสะดวกประชาชน บน digital platform
วันนี้ (14 ส.ค. 62) เวลา 09.00 น. นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการถ่ายทอดยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ ณ ห้องจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดย ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานถือได้ว่าเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะบูรณาการทำงานในภาพรวมของกระทรวง ซึ่งกระทรวงแรงงานนั้นมีมิติการทำงานที่หลากหลายและครอบคลุมประชาชนในหลายกลุ่ม ทั้งกำลังแรงงานทั่วไป แรงงานข้ามชาติ คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ ไปจนถึงนักเรียน/นักศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ดังนั้น การทำงานที่ประสานสอดคล้องกันจึงมีความสำคัญสูงสุดเพื่อขับเคลื่อนงานด้านแรงงานให้บรรลุผลสัมฤทธิ์และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างแท้จริง
สำหรับการดำเนินงานในอนาคตนั้น ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เน้นย้ำใน 3 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก คือ เรื่องของการบูรณาการ ทั้งนี้ สำนักงานปลัดจะต้องเป็นผู้นำ เป็นผู้ริเริ่มในการแปลงนโยบายของกระทรวงแรงงานไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้บริการของกระทรวงตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างครบวงจรทั้งการมีงานทำ การพัฒนาฝีมือแรงงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ความปลอดภัยในการทำงาน และประกันสังคม ประเด็นที่สอง คือ ความรอบรู้เกี่ยวกับสถานการณ์โลก นโยบายของรัฐบาล และเหตุการณ์ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจะต้องเป็นคนทันสมัย รอบรู้สถานการณ์ และสามารถให้การช่วยเหลือประชาชนในภารกิจที่เกี่ยวข้องได้ในโอกาสแรก ตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น การช่วยเหลือแรงงานประมงไทยในน่านน้ำโซมาเลีย เป็นต้น ในฐานะสำนักงานปลัดจะต้องรวดเร็วที่จะประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตามสถานการณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลงานสำคัญอย่างหนึ่งของกระทรวงแรงงาน นอกจากนี้จะต้องให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ด้านวิชาการทั้งเศรษฐกิจและสังคม ตัวเลขดัชนี หรือ ตัวชี้วัดต่างๆ ในพื้นที่ เช่น GPP การว่างงาน เงินเฟ้อในจังหวัดเป็นต้น เพราะล้วนแต่กระทบต่อการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน ดังนั้น "แรงงานจังหวัดจะต้องรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ
และ ประเด็นที่สาม คือ การพัฒนาและอำนวยความสะดวกประชาชน บน digital platform โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานในสังกัด รวมถึงหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ จะต้องพัฒนาระบบ Big Data และการวิเคราะห์ที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบาย เช่น จำนวนผู้ประกันที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ จำนวนสถานประกอบการที่มีการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบของค่าจ้าง ข้อมูลพวกนี้เราจะเก็บได้อย่างไร สามารถหาได้จากที่ไหน ผมอยากให้มีการจัดทำข้อมูลเหล่านี้เพิ่มเติมจากผลการดำเนินงานประจำที่เราทำอยู่ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพ”
การประชุมครั้งนี้ เพื่อให้บุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงแรงานทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค มีความรู้ความเข้าใจ ทิศทางการดำเนินงานขององค์กรและสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอันจะส่งผลต่อความสำเร็จตามพันธกิจและยุทธศาสตร์ขององค์กรได้ โดยมีบุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จำนวน 200 คน