'สหรัฐ' หนุนพัฒนาพลังงาน ปูทางยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก
สำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐ (ยูเอสทีดีเอ) ประกาศกลับมาดำเนินงานในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเป้าหมายสนับสนุนการพัฒนาโครงการพื้นฐานสำคัญใน 3 เสาหลัก ได้แก่ พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐ (ยูเอสทีดีเอ) ประกาศกลับมาดำเนินงานในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยมีเป้าหมายสนับสนุนการพัฒนาโครงการพื้นฐานสำคัญใน 3 เสาหลัก ได้แก่ พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการมุ่งยกระดับความเป็นหุ้นส่วนเชิงพาณิชย์ระหว่างสหรัฐกับไทย ตามแนวทางยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่สหรัฐมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศแถบมหาสมุทรอินเดีย ไปจรดมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งหมายรวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
โทมัส อาร์. ฮาร์ดี้ รักษาการผู้อำนวยการยูเอสทีดีเอ ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงเวลานี้มีความเหมาะสมต่อการสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนใหม่ ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และส่งเสริมเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย
ในโอกาสที่กลับมาดำเนินงานในไทยอีกครั้ง ยูเอสทีดีเอได้มอบความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ บลู โซลาร์ บริษัทผู้ผลิตพลังงานทดแทนในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโรงงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์และแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานแบบผสมผสานในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนำรองที่ร่วมมือกับภาคเอกชนไทย หวังให้เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่และโรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกระดับภูมิภาค
“การที่ประเทศมีพลังงานไฟฟ้ามากเพียงพอและราคาถูก เป็นสิ่งสำคัญต่อการตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยพื้นฐานผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้ยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายของไทยในการขยายจำนวนการใช้พลังงานทดแทนแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นไปในลักษณะที่บริษัทของสหรัฐเสนอให้บริการพลังงานแสงอาทิตย์และกักเก็บพลังงาน และทางยูเอสทีดีเอได้ให้เงินสนับสนุนเงินทุนกับบริษัทบลู โซลาร์ ได้ทำการศึกษาและประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ รวมทั้งทำการออกแบบและวิเคราะห์สิ่งที่จำเป็นต่อการจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินโครงการ” ฮาร์ดี้ระบุ
ฮาร์ดี้ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือนี้ยังช่วยส่งเสริมข้อริเริ่มโครงการเพิ่มการพัฒนาและการเติบโตผ่านพลังงานที่เรียกว่า “เอเชียเอดจ์” เพื่อสร้างระบบการค้าพลังงานที่โปร่งใส เสรีและยุติธรรม สู่การเป็นตลาดพลังงานที่ยั่งยืนและมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ด้าน วิเศษ หาญสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทบลู โซลาร์ กล่าวว่า บริษัทมีความมุ่งที่จะทำการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาโรงงานไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนสำหรับจำหน่ายในราคาถูก ซึ่งทางบริษัทได้ผลิตไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีสัญญาเป็นระยะเวลา 20 ปี
วิเศษหวังว่า โครงการนี้จะช่วยพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กของประเทศไทย ในด้านการผลิตพลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาด มุ่งช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจก และเชื่อมั่นว่า จะสามารถยกระดับให้เป็นแหล่งพลังงานกระแสหลักในอนาคตอันใกล้
"เรามีความตั้งใจที่จะผลิตไฟฟ้าราคาถูกเพื่อจำหน่าย จึงต้องทำการศึกษาแบบรอบด้านทั้งกระบวนผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และมองหาตลาดพลังงานที่คุ้มค่า เพื่อให้การหมุนเวียนทางการเงินของเรามีความคล่องตัว"
กรรมการผู้จัดการบริษัทบลู โซลาร์ ยังมองว่า ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 60 ล้านคนที่ยังไม่เข้าถึงไฟฟ้า ซึ่งแผนการขยายธุรกิจไปยังตลาดพลังงานในต่างประเทศมีความสำคัญมาก โดยบริษัทเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในประเทศที่มีประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้า และตั้งใจจะผลิตไฟฟ้าในราคาที่ประชาชนสามารถซื้อได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน โครงการนี้ที่ร่วมกับยูเอสทีดีเอ จะทำให้บริษัทสามารถเรียนรู้และเข้าใจขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ดีขึ้น และไม่ต้องลงทุนกับแบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานแสงแดดเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ บริษัทสามารถใช้ต้นทุนที่มีอยู่เดิมขยายแผนต่อยอดทางธุรกิจออกไปได้ในอนาคต
ภายในงานดังกล่าว ได้มีพิธีลงนามข้อตกลงที่มีขึ้นระหว่างยูเอสทีดีเอกับบริษัทบลู โซลาร์ ในการดำเนินการตามโครงการศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพื่อจำหน่าย โดยบริษัทบลู โซลาร์เป็นหนึ่งในจำนวน 17 โครงการที่ได้รับการคัดเลือกจาก กฟผ. และสำนักงานกำกับพลังงาน ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย