'แอคเมคส์' หนุนสร้างอาเซียน ศูนย์กลางศก.ใหม่โลก
ประเทศไทยได้เป็นตัวแทนสมาชิกแอคเมคส์ นำเสนอร่างแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาความร่วมมืออย่างเป็นทางการแบบรายประเทศกับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา
ในยุคที่คนชนชั้นกลางมีบทบาทสร้างเศรษฐกิจโลก ซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) คาดการณ์ไว้ว่า คนชั้นกลางที่มีอยู่ราว 85% จะเพิ่มขึ้นจากตลาดเกิดใหม่ในฝั่งเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนมากถึง 1.4 พันล้านคน อินเดีย 1.3 พันล้านคน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 600 ล้านคน ที่จะช่วยก่อตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ภายในปี 2573 โดยรายได้ชนชั้นกลางมาจากการลงทุน การจ้างงาน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ล้วนเป็นผลจากขยายตัวของสังคมเมือง ไปสู่หัวเมืองใหญ่ๆ
นี่เป็นทิศทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือแอคเมคส์ (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ซึ่งในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแอคเมคส์ ประกอบด้วย 5 ประเทศได้แก่ ไทย กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม กับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาครั้งที่ 1 ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน และอินเดีย ในลักษณะแยกรายประเทศ โดยมี วิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ สก สีพันนา ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา เป็นประธานร่วมเพื่อหารือถึงการขับเคลื่อนกลไกความร่วมมือในอนาคต เน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นิกรเดช พลางกูร รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมว่า ประเทศไทยได้เป็นตัวแทนสมาชิกแอคเมคส์ นำเสนอร่างแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาความร่วมมืออย่างเป็นทางการแบบรายประเทศกับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา โดยร่างเอกสารดังกล่าว มุ่งดำเนินการแนวทางสร้างปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และเป็นแผนการดำเนินการในระยะต่อไป เช่น การกำหนดพื้นที่พัฒนาในระยะแรก และการดำเนินโครงการที่เน้นสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศสมาชิกแอคเมคส์
นิกรเดช กล่าวอีกว่า ประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาทั้ง 6 ประเทศ ได้กล่าวถ้อยแถลงที่สะท้อนเจตนารมณ์ในการพัฒนาความร่วมมือกับแอคเมคส์ และสาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับโครงการเร่งด่วนภายใต้แผนแม่บทแอคเมคส์ในระหว่างปี 2562 - 2566 ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนา การศึกษา การบริหารจัดการน้ำ การส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
การประชุมครั้งนี้ สะท้อนความก้าวหน้าและความสำเร็จของแอคเมคส์ ในการปรับภาพลักษณ์กรอบความร่วมมือให้มีความเปิดกว้าง ทันสมัย และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ผ่านการส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจและการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคที่มีอยู่เดิม ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่เล็งเห็นว่า แอคเมคส์จะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างอนุภูมิภาคที่มีความสมดุล มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
"ปัจจุบัน ในการจัดระเบียบโลกใหม่ได้มีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ เอเชีย ในมิติของอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ ที่เรียกว่า ยุคทองแห่งเอเชีย (Asia Century) ซึ่งประเทศไทยตระหนักถึงเรื่องนี้ และเห็นว่า การรวมกลุ่มในภูมิภาคภายใต้ความร่วมมือพหุภาคีแบบหลายขั้วอำนาจในยุคของเอเชีย ได้สร้างพลวัตการพัฒนาในพื้นที่สูงมาก จากเดิมอยู่ที่เอเชียตะวันออก ได้เคลื่อนย้ายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉะนั้นในความเป็นอนุภูมิภาคนิยม กระทรวงการต่างประเทศหวังจะใช้ความร่วมมือเหล่านี้ สร้างปฏิสัมพันธ์และประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในทุกด้าน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญให้กับอาเซียน" นิกรเดช ระบุ
รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวตอนท้ายว่า การดำเนินงานของแอคเมคส์จึงไม่ซ้ำซ้อนกับความร่วมมือลุ่มน้ำโขง แต่จะเป็นการเกื้อหนุน และดำเนินโครงการให้สอดคล้องกัน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ยั่งยืน