ส่งออกรถยนต์ไทยปี 62 ปิดลบ 2.7% แต่ปิกอัพยังโต 2.4%

ส่งออกรถยนต์ไทยปี 62 ปิดลบ 2.7% แต่ปิกอัพยังโต 2.4%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองภาคส่งออกรถยนต์ไทยปี 62 ปิดลบ 2.7% แต่ปิกอัพยังโต 2.4% ไทยควรเร่งเจรจา FTA กับคู่ค้า เช่น  EU เพื่อรักษาฐานส่งออก

ในปี 2562 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทยน่าจะหดตัวร้อยละ 2.7 คิดเป็นจำนวนรถยนต์ 1,110,000 คัน จากปัจจัยลบเรื่องสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ ค่าเงินบาทแข็งค่า และการส่งออกไปยังตลาดหลักของไทยที่ลดลงอย่างมาก เช่น ออสเตรเลีย ที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศ อย่างไรก็ตาม หากแยกประเภทรถยนต์ที่ส่งออกจะพบว่า การส่งออกรถปิกอัพของไทยยังคงขยายตัวได้ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.4 คิดเป็นรถปิกอัพส่งออก 626,000 คัน ขณะที่รถประเภทอื่นหดตัวลงในตลาดส่วนใหญ่  

· ส่วนในระยะยาวถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้การส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์นั่งที่มีแผนจะส่งออกไปตลาดต่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนของรถปิกอัพ แม้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะยังมีโอกาสเติบโตในตลาดส่งออกหลัก เช่น เอเชีย และโอเชียเนีย ทว่าตลาดส่งออกรถปิกอัพไทยที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 29 ในปัจจุบันอย่าง ยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง อาจส่งออกได้น้อยลง หากค่ายรถ โดยเฉพาะค่ายญี่ปุ่น เริ่มขยายฐานการผลิตไปยังประเทศที่อยู่ใกล้ตลาดเหล่านี้มากขึ้น อย่างไรก็ดีหากไทยสามารถเปิดเสรีทางการค้ากับทั้ง 3 ตลาดได้ ก็จะช่วยลดทอนผลกระทบดังกล่าวลง ซึ่งคาดว่าอาจมีผลทำให้มูลค่าการส่งออกเฉพาะรถปิกอัพไทยลดลงไปไม่ต่ำกว่า 760 ล้านดอลลาร์ฯจากระดับศักยภาพที่ไทยควรจะทำได้

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 การส่งออกรถยนต์โดยรวมของไทยไปยังตลาดโลกยังบ่งชี้ให้เห็นถึงภาวะที่ค่อนข้างซบเซาในตลาด หลังต้องเผชิญกับปัจจัยลบอันหลากหลายทั้งสงครามการค้าโลกอันยืดเยื้อ การแข็งค่าของค่าเงินบาท ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องในประเทศนำเข้ารถยนต์หลักจากไทย เช่น ออสเตรเลีย ที่มีส่วนแบ่งในการส่งออกรถยนต์ของไทยสูงถึงประมาณร้อยละ 30  ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วงครึ่งแรกหดตัวลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเกียวกันในปีก่อน ด้วยปริมาณรถยนต์ส่งออก 559,861 คัน

ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีนับจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกจะยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่ดำเนินยาวนานต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2562 และคาดว่าจะยาวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า แม้จะมีปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีไปยังตลาดตะวันออกกลาง เอเชีย และสหภาพยุโรป มาช่วยทดแทนได้บ้างก็ตาม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออกรถยนต์ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 น่าจะมีจำนวนประมาณ 550,000 คัน หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ตลอดทั้งปี 2562 คาดว่าจะมีปริมาณทั้งสิ้นประมาณ 1,110,000 คัน หดตัวกว่าร้อยละ 2.7 จากปีที่แล้ว ทั้งนี้ แรงฉุดสำคัญมาจากการส่งออกรถยนต์นั่งและรถอเนกประสงค์ PPV ที่หดตัวลงค่อนข้างมากในหลายๆตลาด แม้การส่งออกรถปิกอัพจะยังขยายตัวได้ก็ตาม

  1 (1)

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์การส่งออกรถยนต์ของไทยในอนาคตข้างหน้า การส่งออกรถยนต์นั่ง โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า จะเป็นปัจจัยที่กลับมาผลักดันให้การส่งออกโดยรวมยังคงขยายตัวต่อไปได้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยสูง หลังค่ายรถได้ทยอยเข้ามาลงทุนผลิตในไทยเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นฐานในการส่งออก แต่ในส่วนของการส่งออกรถปิกอัพของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ล่าสุดจะมีการลงทุนเพิ่มเข้ามาจาก 2 ค่ายรถ แต่ก็ไม่ได้มีปริมาณที่มากพอจะทำให้การส่งออกยังคงรักษาสถานะขยายตัวดังเช่นปัจจุบันต่อเนื่องไปตลอดในระยะยาวได้ เนื่องจากตลาดนำเข้าทั้งหลายยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากฐานการผลิตในประเทศอื่นที่อยู่ใกล้กับตลาดส่งออกของไทยหลายตลาด และการที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าหลักอยู่หลายกลุ่ม ทำให้หากไม่มีการเร่งปรับตัวรับมือ ก็อาจจะต้องเผชิญกับการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในบางตลาดได้ เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง ซึ่งมีประเด็นให้ต้องติดตามต่อไปอยู่ในระยะข้างหน้า

ระยะทางในการขนส่ง และ FTA กับประเทศคู่ค้า...ปัจจัยสำคัญต่ออนาคตส่งออกรถปิกอัพไทย

สำหรับปัจจัยด้านระยะห่างระหว่างไทยกับตลาดส่งออก และปัจจัยเรื่องการมีข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศคู่ค้านั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม โดยมีผลต่อการส่งออกรถปิกอัพไทยทั้งในทางบวกและลบในระยะยาวข้างหน้าตามแต่ละตลาด ดังต่อไปนี้

  • กลุ่มประเทศคู่ค้าที่อยู่ใกล้ไทยและการมีข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า ได้แก่ ประเทศในอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีฐานการผลิตรถปิกอัพรุ่นเดียวกับที่ไทยผลิต หรือมีผลิตบ้างแต่ก็เป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับไทย และเมื่อผนวกกับภาษีนำเข้าที่อยู่ในอัตราร้อยละ 0 ทั้งหมดแล้วนั้น ทำให้ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดส่งออกรถปิกอัพของไทยไปภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียเพิ่มขึ้นมาจากร้อยละ 40 ในปี 2557 เป็นร้อยละ 62 ในปี 2562 และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทิศทางดังกล่าวจะดำเนินต่อไปจากการนำเข้ารถปิกอัพของไทยที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดเหล่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งล่าสุดค่ายรถปิกอัพรายใหญ่รายหนึ่งได้ประกาศยกเลิกสายการผลิตรถปิกอัพในฟิลิปปินส์ในปี 2562 นี้แล้วหันมานำเข้าจากไทยแทน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการส่งออกรถปิกอัพไปฟิลิปปินส์ของไทยเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะที่ตลาดอื่นๆทั้งเวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา ก็มีแนวโน้มขยายความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ยกเว้นแต่เมียนมาร์ที่การส่งออกจากไทยในอนาคตอาจต้องชะลอลงเนื่องจากค่ายรถเริ่มมีการเข้าไปลงทุนตั้งสายการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และอาจรวมถึงการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บังคลาเทศ เป็นต้น)

1(3589)

  • กลุ่มประเทศคู่ค้าที่อยู่ไกลจากไทย และยังไม่มีข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้า เช่น ยุโรป และอเมริกาเหนือ ที่แม้ปัจจุบันความต้องการจากฝั่งผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น จากการเติบโตของดีมานด์ใหม่ๆ ซึ่งหันมานิยมรถปิกอัพขนาดกลางมากขึ้นด้วยอรรถประโยชน์ที่หลากหลาย รวมไปถึงการประหยัดน้ำมันที่สูงกว่ารถอเนกประสงค์และรถปิกอัพขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกรถปิกอัพของไทยในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม จากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้แม้ปัจจุบันไทยจะยังคงได้รับประโยชน์จากการที่ค่ายรถปิกอัพสัญชาติญี่ปุ่นยังเน้นลงทุนในไทยเพื่อผลิตสำหรับส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าว แต่ในระยะถัดไป หากไทยซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ห่างไกลจากตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือยังคงไม่มีข้อตกลงเปิดเสรีการค้าร่วมกัน อันจะช่วยให้ต้นทุนรถปิกอัพนำเข้าจากไทยต่ำลงและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับรถปิกอัพจากฐานการผลิตอื่นแล้วนั้น ก็มีโอกาสที่การส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบ หากค่ายรถปิกอัพต่างๆไปขยายฐานการผลิตหรือเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นในประเทศอื่นที่อยู่ใกล้ตลาดมากกว่า รวมถึงได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการเปิดเสรีทางการค้าร่วมกันแล้ว

1xfba47yhri880k4c0

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาค่ายรถก็ได้มีการทยอยเข้าไปลงทุนในประเทศแอฟริกาใต้และบางประเทศในทวีปอเมริกาใต้แล้ว ซึ่งทำให้การส่งออกรถปิกอัพจากไทยไปทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเท่านั้นการที่แอฟริกาใต้มีข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มสหภาพยุโรปแล้ว ขณะที่กลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Mercosur) ที่เพิ่งจะบรรลุข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้ากับสหภาพยุโรปไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2562 และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศเม็กซิโกอยู่นี้ ก็มี 2 ประเทศสมาชิกในกลุ่มนั้น คือ บราซิลและอาเจนติน่า เป็นฐานการผลิตรถปิกอัพรุ่นเดียวกับไทยด้วย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อาจจะมีผลทำให้โอกาสในการส่งออกไปทวีปยุโรปกับอเมริกาเหนือในอนาคตของไทยลดลงกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตได้ ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเห็นสัญญาณของการส่งออกรถปิกอัพจากประเทศเหล่านี้เข้าไปในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้น

สำหรับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง เป็นอีกตลาดที่ความต้องการรถปิกอัพขยายตัวตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นหลังราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกรถปิกอัพจากไทยในระยะนี้เติบโตดีขึ้น โดยไทยได้ประโยชน์จากการที่ปัจจุบันยังไม่มีฐานการผลิตรถปิกอัพสัญชาติญี่ปุ่นรุ่นเดียวกับไทยซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดตะวันออกกลางในประเทศที่ใกล้เคียง อีกทั้งปัจจุบันยังมีการเจรจาทางการค้ากับประเทศนอกภูมิภาคน้อยมาก จึงทำให้ไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับตลาดส่งออกรถปิกอัพในตลาดอื่นของไทยที่อยู่ไกลออกไป อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวอาจเกิดความเสี่ยงได้ เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่มีความแน่นอน และอาจเข้าสู่ช่วงราคาที่ปรับลดลงได้อีก ประกอบกับปัจจุบันตะวันออกกลางมีการเจรจาการค้าที่ยังไม่บรรลุข้อตกลงร่วมกันกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีโรงงานผลิตรถปิกอัพขนาดกลางแบบเดียวกันกับไทยอยู่ โดยในระยะข้างหน้าหากค่ายรถปิกอัพสัญชาติญี่ปุ่นที่เป็นที่นิยมในตลาดตะวันออกกลางหันไปขยายฐานการผลิตในยุโรป รวมถึงการเจรจาทางการค้าระหว่างสภาพยุโรปกับตะวันออกกลางบรรลุข้อตกลงได้ น่าจะส่งผลทำให้การส่งออกรถปิกอัพจากไทยได้รับผลกระทบพอสมควร เนื่องจากประเทศในยุโรปจะสามารถผลิตรถปิกอัพแบบเดียวกันกับไทยแล้วส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางได้ด้วยต้นทุนที่อาจจะต่ำกว่าไทย

  002

 

 

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกรถปิกอัพในระยะยาว แม้การส่งออกรวมจะมีโอกาสขยายตัวขึ้นจากตลาดอาเซียน และโอเชียเนียดังกล่าว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในตลาดที่ไทยสามารถส่งออกได้ดีในปัจจุบัน หากในอนาคตไทยยังคงไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆใน ยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลางเลยดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งอาจทำให้โอกาสในการส่งออกของไทยไปตลาดเหล่านี้ลดลงได้ในอนาคต เมื่อค่ายรถเริ่มไปลงทุนผลิตรถปิกอัพมากขึ้นในประเทศที่อยู่ใกล้กับตลาดเหล่านี้มากกว่า และหากได้สิทธิประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้าที่ต่างกำลังเจรจากันอยู่ในขณะนี้ดังกล่าวข้างต้น ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการนำเข้าถูกกว่าไทย

โดยในระยะยาวข้างหน้า หากเกิดกรณีที่ค่ายรถปิกอัพลดการส่งออกจากไทยแล้วไปผลิตในประเทศที่อยู่ใกล้ตลาดส่งออก ดังเช่นที่เคยเกิดในตลาดแอฟริกาและอเมริกาใต้ขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า การส่งออกรถปิกอัพจากไทยไปยังภูมิภาคยุโรป อเมริกาเหนือ และตะวันออกกลาง รวมกันทั้ง 3 ตลาด จะมีมูลค่าลดต่ำลงกว่าที่ไทยควรจะส่งออกได้โดยศักยภาพถึง 760 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ลดลงไปร้อยละ 45 จากมูลค่าการส่งออกรถปิกอัพที่ควรจะเป็นตามศักยภาพในปี 2567 ดังนั้นการที่ไทยจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศที่กำลังเจรจาอยู่โดยเร็ว เช่น สหภาพยุโรป เป็นต้น ก็น่าจะช่วยลดทอนผลกระทบดังกล่าว รวมถึงเป็นผลดีต่อการผลิตและส่งออกรถปิกอัพของไทยโดยรวมต่อไปในอนาคตด้วย ซึ่งการที่ไทยสามารถรักษาตลาดส่งออกไว้ได้ ก็จะเป็นการช่วยเพิ่ม Economies of Scale ทำให้ต้นทุนรถปิกอัพผลิตจากไทยแข่งขันได้ดีในตลาดต่างๆมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการควบคุมการปล่อยมลพิษที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตในหลายๆตลาดส่งออกของรถปิกอัพไทยที่ภาครัฐและเอกชนควรต้องพิจารณาถึง ซึ่งแม้ปัจจุบันจะยังไม่ได้กระทบต่อรถปิกอัพโดยตรง แต่เทรนด์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต หากไทยสามารถผลักดันให้รถปิกอัพที่ผลิตในประเทศพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับรถยนต์ไฟฟ้าทั้งในรูปแบบ รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ เช่นเดียวกันกับรถยนต์นั่งได้ ก็น่าจะเป็นอีกส่วนช่วยหนึ่งที่ให้ไทยยังคงรักษาความเป็นประเทศฐานการผลิตรถปิกอัพที่สำคัญระดับโลกต่อไปได้อีกนาน