'กรมบัญชีกลาง' ปูพรมเปิดรับร้านค้าใช้แอป 'ถุงเงิน' ร่วมมาตรการ 'ชิมช้อปใช้'
"กรมบัญชีกลาง" ปูพรมลงพื้นที่รับสมัครผู้ประกอบการ ร้านค้าใช้ Application "ถุงเงิน" ตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ "ชิมช้อปใช้" เพื่อให้ประชาชนได้จับจ่ายใช้สอยเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ซึ่งกรมบัญชีกลางได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14.6 ล้านราย โดยการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) 3 มาตรการ โดยเริ่มโอนเงินรอบแรกให้แล้วเมื่อวันที่ 21 และวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังได้เตรียมความพร้อมมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ g-Wallet ตามที่รัฐบาลจะให้สิทธิ 2 ต่อ คือ เป๋าตัง ช่อง 1 สนับสนุนวงเงิน คนละ 1,000 บาท ให้แก่ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จำนวน 10 ล้านคน ที่ลงทะเบียนร่วมมาตรการผ่าน Application เป๋าตัง เพื่อเป็นสิทธิในการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ และ เป๋าตัง ช่อง 2 ให้ เงินชดเชย (Cash Back) สูงสุดร้อยละ 15 ของยอดการชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (หรือวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท) สำหรับผู้ลงทะเบียนเติมเงินเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือซื้อสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ โดยกรมบัญชีกลางทำหน้าที่ในการรับสมัครผู้ประกอบการ ร้านค้า เพื่อเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการ หรือร้านค้า ที่สนใจสมัครเข้าร่วมมาตรการ ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม – 20 กันยายน 2562 ดังนี้
1. ผู้ประกอบการ ร้านค้า ประเภท “ชิมช้อปใช้” เช่น ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านค้าท้องถิ่น (ผลิตภัณฑ์ชุมชน) (OTOP/วิสาหกิจชุมชน) โรงแรม รีสอร์ท โฮมสเตย์ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ สามารถยื่นใบสมัคร โดยเตรียมเอกสารหลักฐานและดำเนินการ ดังนี้
1.1 หนังสือรับรองการประกอบกิจการหรือใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการ จากหน่วยงานราชการ เช่น สำเนาใบจดทะเบียนพาณิชย์ หนังสือจดทะเบียนการค้า หรือ
1.2 หนังสือรับรองจากหน่วยงานราชการอื่น ๆ ที่รับผิดชอบในการรับรองหรือออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า ในแต่ละประเภท ตามรูปแบบที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด เช่น องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร หรือ
1.3 กรณีหน่วยงานราชการไม่มีรูปแบบการออกใบรับรองหรือใบอนุญาต ก็สามารถให้หน่วยงานเซ็นต์รับรองในแบบฟอร์มใบสมัครเข้าร่วมมาตรการ ตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางจะได้มีหนังสือประสานขอความร่วมมือไปยังส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐต่าง ๆ เพื่อให้ความร่วมมือในการเซ็นต์รับรองให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการตามตามนโยบายรัฐบาลดังกล่าวด้วย
1.4 บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย ประเภทออมทรัพย์ หรือกระแสรายวัน ชื่อบัญชีสถานประกอบการ หรือชื่อผู้ประกอบการ ฉบับจริงหรือถ่ายสำเนา หากไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย ทาง บมจ. ธนาคารกรุงไทย จะให้บริการรับเปิดบัญชีเงินฝาก ณ จุดบริการรับสมัคร เพื่อใช้งานตามมาตรการได้
1.5 มีมือถือ Smart Phone มีเครือข่าย Internet และหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดตั้ง Application ถุงเงิน
1.6 ยื่นใบสมัครพร้อมเอกสารหลักฐานดังกล่าว ได้ที่สำนักงานคลังจังหวัด สำหรับส่วนกลางยื่นใบสมัครได้ที่กรมบัญชีกลาง (ห้องกำปั่นเงิน) ได้ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2562 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2562 เวลา 8.30 – 16.30 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ และตามจุดให้บริการ One Stop Service ในเบื้องต้น จำนวน 7 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 2 – 20 กันยายน 2562 ซึ่งจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบเกี่ยวกับสถานที่และเวลาให้บริการโดยเร็วที่สุด กรณีมอบอำนาจ ให้ติดอากรแสตมป์ 10 บาท ให้พยานเซ็นต์ชื่อรับรอง พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจไปประกอบด้วยโดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่เว็บไซด์กรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th หรือขอรับแบบฟอร์มได้ที่สำนักงานคลังจังหวัด กรมบัญชีกลางหรือจุดให้บริการ
1.7 เมื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานเรียบร้อยแล้ว จะได้รับรหัส OTP ทางโทรศัพท์ที่แจ้งไว้เพื่อยืนยันข้อมูลก็จะสมารถใช้งาน Application ถุงเงิน โดย บมจ. ธนาคารกรุงไทย จะดาวน์โหลด Application ถุงเงิน พร้อมให้คู่มือการใช้งานให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า กลับไป ในวันเดียวกัน
2. ร้านธงฟ้าประชารัฐ ที่ติดตั้งเครื่อง EDC ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ “ชิมช้อปใช้” สามารถสมัครได้เช่นเดียวกับร้านค้าประเภท “ชิมช้อปใช้” โดยดำเนินการกรอกแบบฟอร์มและยื่นใบสมัครเช่นเดียวกันตามข้อ 1.6 แต่ไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานเนื่องจากมีข้อมูลอยู่ในระบบแล้ว หลังจากนั้น บมจ. ธนาคารกรุงไทย จะดาวน์โหลด Application ถุงเงิน พร้อมให้คู่มือการใช้งานให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า กลับไป ในวันเดียวกัน
3. ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ หรือร้านค้าทั่วไป ที่มี Application ถุงเงินประชารัฐเดิมอยู่แล้ว บมจ. ธนาคารกรุงไทย จะส่ง SMS เพื่ออับเดท Application ถุงเงิน เวอร์ชั่นใหม่ หากสนใจเข้าร่วมมาตรการ ก็ยืนยันการอับเดท และสามารถเข้าร่วมมาตรการได้ทันที ไม่ต้องกรอกใบสมัครและลงทะเบียนใหม่
ทั้งนี้ ททท. จะได้จัดทำแผ่นประชาสัมพันธ์ร้าน “ชิมช้อปใช้” เพื่อติดร้านค้าหรือสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้ใช้ Application เป๋าตัง รับทราบและมาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้าได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยสามารถขอรับได้ที่สำนักงานคลังจังหวัด และกรมบัญชีกลาง กรณีที่มีข้อสงสัยหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานคลังจังหวัด และกรมบัญชีกลาง เบอร์โทรศัพท์ 0 0127 7000 ต่อ 4662 6707
สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ได้ทางเว็บไซด์ ททท. ระหว่างวันที่ 23 กันยายน – 15 พฤศจิกายน 2562 โดยกำหนดจำนวนไว้ที่ 10 ล้านราย โดยจะได้รับสิทธิ 2 ส่วน คือ เป๋าตัง ช่อง 1 และเป๋าตัง ช่อง 2 ตามเงื่อนไขที่กำหนด ดังนี้
1. เป็นคนไทย ที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน มีบัตรประจำตัวประชาชน มี Smart Phone /เครือข่าย Internet มี e-mail
2. ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิตามมาตรการ ได้ทางเว็บไซด์ของ ททท. ซึ่งจะกำหนดเป็นรอบ ๆ จำนวน 10 รอบ รอบละ 1 ล้านคน ตามเวลาที่จะประกาศกำหนด โดยระบุจังหวัดที่จะไปท่องเที่ยวซึ่งไม่ใช่จังหวัดตามสำเนาทะเบียนบ้าน
3. ภายใน 3 วันหลังจากลงทะเบียนจะได้รับ SMS แจ้งยืนยันการได้รับสิทธิและช่วงระยะเวลาการไปใช้สิทธิ คือ ภายใน 14 วัน หลังจากได้รับ SMS และให้ดาวโหลด Application เป๋าตัง โดยจะมีวงเงินในเป๋าตัง ช่อง 1 ให้ 1,000 บาท เพื่อใช้สิทธิ ชิมช้อปใช้ ในจังหวัดที่เลือกไว้ และสามารถเติมเงินของตนเองในเป๋าตัง ช่อง 2 เพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น จากผู้ประกอบการ ร้านค้า ชิมช้อปใช้ ได้ตั้งแต่วันที่ได้รับสิทธิจนถึงสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562 ในทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดตามสำเนาทะเบียนบ้าน โดยการใช้จ่ายจากเป๋าตัง ช่อง 2 รัฐบาลจะสนับสนุนเงินคืนให้ (Cash Back) ร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (หรือวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท) ซึ่งจะจ่ายคืนเงินให้หลังสิ้นสุดโครงการในเดือนธันวาคม 2562
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการมาตรการดังกล่าว กรมบัญชีกลางได้มีการประชุมหารือร่วมกับ ททท. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง บมจ. ธนาคารกรุงไทย เพื่อกำหนดขั้นตอนวิธีดำเนินการ พร้อมทั้ง จัดประชุม Conference กับคลังจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการรับสมัครแก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า ในพื้นที่แต่ละจังหวัด พร้อมทั้ง จัดทีมร่วมกัยบ บมจ. ธนาคารกรุงไทย ลงพื้นที่เพื่อให้บริการรับสมัครผู้ประกอบการ ร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ “ชิมช้อปใช้” จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการ ร้านค้า และประชาชนเข้าร่วมมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อท้ายว่า จากการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ทั้ง 4 มาตรการดังกล่าว ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เกิดการใช้จ่ายกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค และเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในประเทศ เป็นการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวและขยายได้อย่างเต็มศักยภาพ บรรลุตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้