ความตายของ “มาเรียม” และโรดแมปขยะพลาสติก
ค่ำของวันที่ 16 สิงหาคม ลูกพะยูนหลงฝูงอายุประมาณ 6 เดือนในตอนถูกพบครั้งแรกในช่วงปลายเดือนเมษายน ก่อนถูกนำมาอนุบาลในสภาพธรรมชาติที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงเกิดอาการช็อคอย่างรุนแรง
ทีมสัตวแพทย์ได้พยายามช่วยเหลือเธออย่างหนัก แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตที่รอดจากการเกยตื้นมาได้เกือบสี่เดือนแล้ว ทีมที่ดูแล “มาเรียม” เคยคาดไว้ว่า หากพ้นหกเดือน เธอน่าจะสามารถมีชีวิตอยู่ด้วยตัวเองได้
“มาเรียม” ที่กลายมาเป็นที่รักของคนทั้งประเทศและทั่วโลกจากการเฝ้าเอาใจช่วยผ่านโลกโซเชียลมีเดีย ตายลงหลังเที่ยงคืนเพียงไม่กี่นาที
ทีมสัตวแพทย์ที่ผ่าซากเพื่อตรวจพิสูจน์พบขยะพลาสติกอุดตันในลำไส้ของเธอ ทำให้ระบบย่อยอาหารของเธอรวน เกิดแก๊สที่ทำให้เกิดแผลติดเชื้อ เจ็บปวดและทรมานจนเกิดอาการช็อคและตายลงในที่สุด กลายเป็นพะยูนตัวที่ 14 ของปีนี้ที่ตาย และไม่มีใครคาดคิดว่าขยะพลาสติกจะเป็นตัวการสำคัญในการตายในครั้งนี้
“ช่วงแรกของการรักษาสามารถลดการติดเชื้อในระบบหายใจลงได้บางส่วน แต่ในทางเดินอาหารท่ีมีขยะพลาสติกนั้นไม่สามารถรักษาได้ จึงลุกลามไปจนช็อคเสียชีวิตในที่สุด”สัตวแพทย์หญิง รศ. ดร. นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ที่ให้คำปรึกษาและการรักษามาเรียมตั้งแต่เริ่มต้นและทำการผ่าพิสูจน์มาเรียมกล่าวคำอาลัยในเฟสบุ๊ค พร้อมกับร้องขอให้คนในสังคมหันมาให้ความสนใจในปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจัง
ความตายของมาเรียมได้ช่วยกระตุ้นกระแสรณรงค์ลด ละ เลิกขยะพลาสติกที่ประเทศไทยได้พยายามทำในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งทำให้สังคมหันกลับไปมองหาต้นตอของปัญหาและทบทวนวิธีการที่ทำกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกปี 2561-2573 ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม โรดแมปที่เป็นเสมือนแผนที่นำทางไปสู่หนทางปลอดขยะพลาสติกของประเทศนี้กำลังถูกตั้งคำถามถึงความจริงจังในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากนักรณรงค์เคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าวพบว่ายังมีช่องโหว่ในการตอบโจทย์ปัญหาที่ต้นตอ และที่สำคัญคือการขาดสภาพการบังคับใช้ที่อาจทำให้จุดประสงค์และเป้าหมายต่างๆที่วางเอาไว้อาจไม่บรรลุตามที่ได้ตั้งใจไว้
“ถ้าเป็นแบบนี้ มันจะไม่ได้มีอิมแพคมากในการช่วยลดขยะที่เป็นปัญหาจริงๆจังๆ และที่สำคัญคือเราไม่มีกฎหมายที่มีสภาพบังคับใช้ ซึ่งมันเลยไม่รับประกันเลยว่าเราจะทำได้
“หรือไม่ก็เราควรมีกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะทะเลโดยเฉพาะไปเลย ไม่งั้นมาเรียมก็ตายไปงั้น อีกรึเปล่า?” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำประเทศไทยตั้งข้อสังเกต
ความพยายามในการจัดการปัญหาขยะพลาสติก เริ่มมีความจริงจังหลังการประชุมขยะทะเลอาเซียน การลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Confererence on Reducing Marine Debris in ASEAN region) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2561 ที่จังหวัดภูเก็ต ก่อนที่จะถูกเน้นย้ำอีกครั้งในการประชุมในระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้าน 3R ของประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเลครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่กรุงเทพมหานคร
รัฐบาลจึงได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการขยะพลาสติกซึ่งอยู่ภายใต้คณะกกรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโรดแมปฯและแผนปฏิบัติการจึงได้รับการจัดทำและปรับปรุงก่อนนำเข้า ครม.ให้ความเห็นชอบในที่สุด “เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือในการบริการจัดการขยะพลาสติกร่วมกับทุกภาคส่วน”
โดยประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนถูกระบุว่าเป็นประเทศลำดับต้นๆของโลกที่เป็นแหล่งสำคัญของขยะพลาสติกในทะเล โดยโรดแมประบุว่า ในช่วงระยะ เวลา 10 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน ซึ่งในสองล้านตันดังกล่าว สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยปีละประมาณ 500,000 ตัน ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 1.5 ล้านตัน ไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก และกล่องโฟมบรรจุอาหาร ซึ่งมีอายุยาวนานในสิ่งแวดล้อมที่อาจมากถึงกว่า 450-1,000 ปี
เนื่องมาจากข้อมูลต่างประเทศที่ระบุว่าราว 80% ของขยะในทะเลมาจากขยะบนบก ทำให้ขยะพลาสติกลายมาเป็นเรื่องเดียวกันกับขยะทะเลในมุมมองของรัฐ และรวมเข้ากับการจัดการขยะพลาสติกในโรดแมปที่มุ่งเน้นการจัดการขยะพลาสติกบนบกก่อนสู่ทะเลให้มากที่สุด ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ กล่าว
ในโรดแมป ตามหลักการ 3R สามารถแบ่งการจัดการขยะได้เป็นสองภาคส่วนใหญ่คือ การผลิต และการบริโภคและหลังการบริโภค ซึ่งมาตรการลดขยะมุ่งเน้นในส่วนของการผลิตในภาคการออกแบบผลิตภัณฑ์และการบริโภค ในขณะที่มาตรการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล จะเน้นไปที่ขยะหลังการบริโภค ทำให้กรีนพีซตั้งคำถามต่อต้นน้ำของขยะหรือวัตถุดิบของการผลิตที่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนที่ระบุ นอกจากคำว่า “extended producer responsibility”
“มันมีการพูดถึงหลักการนี้ ที่ให้ผู้ผลิตเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ แต่เรามองว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกับ ความรับผิดชอบของผู้ผลิตรึเปล่า ของเขตที่แท้จริงของคำนี้คืออะไร มันไม่ชัดเจน”
ธาราในฐานะผู้บริหารองค์กรที่ต้องติดตามปัญหามลพิษของประเทศ ได้ศึกษาเนื้อหาในโรดแมป ก่อนพบว่า ตัวโรดแมป ได้ระบุถึงสถานการณ์ สภาพปัญหาได้ครอบคลุมทั้งภาคส่วนการผลิตและการบริโภค และยังได้พูดถึงปัญหาการขาดการบังคับไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่อแปลงมาเป็นเป้าหมายและแผนปฏิบัติ ธารากลับพบว่า มันตอบโจทย์ได้ยังไม่ชัดเจนหรือไม่ได้ตอบบางโจทย์ที่ระบุไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดมาตรการด้านกฎหมายที่จำเป็นหรือเฉพาะในการบังคับใช้เพื่อให้เกิดผล อย่างเช่นกฎหมายขยะทะเลโดยตรงเหมือนอย่างสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ แนวทางสำคัญคือการสร้าง circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน แม้จะถูกระบุไว้ในโรดแมปจริง แต่ธารามองว่าตั้งอยู่บนฐานคิดที่ไม่ตรงกับโจทย์ คือยังมองเรื่องการบริโภคที่ต้องเพิ่มขึ้น และจำเป็นที่จะต้องหาสิ่งทดแทน แทนที่จะมองเรื่องการสร้างความยั่นยืนในการบริโภค อันเป็นคอนเซ็ปต์หลักของเศรษฐกิจหมุนเวียน ธารากล่าว
“มันดูเป็นแผนที่ดูดีนะ แต่พอลงในรายละเอียดแล้ว เราจะเห็นว่ามันทำให้เกิดคำถามมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำไปปฏิบัติที่ยังต้องตอบให้ได้” ธารา กล่าว
ดร.วิจารย์กล่าวว่า การตายของมาเรียมทำให้ทางหน่วยงานรัฐกำลังมีการทบทวนโรดแมปที่กำลังดำเนินการว่าได้ผลมากน้อยอย่างไร และควรต้องปรบปรุงอย่างไร
ขณะนี้ กำลังมีการทบทวนกฎหมาย 3R ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่มีทั้งการส่งเสริมและการบังคับใช้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการช่วยแก้ปัญหา ตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเป็นองค์รวม โดยต้นแบบนำมาจากกฎหมายจัดการขยะของญี่ปุ่น ดร.วิจารย์กล่าว
อย่างไรก็ดี ดร.วิจารย์ยอมรับว่า การผลักดันกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องง่ายและอาจใช้เวลาอีกสักระยะ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับมาตรการบังคับใช้ทางเศรษฐกิจ อาทิ ภาษีต่างๆ
“เราก็หวังว่าถ้ากฎหมายตัวนี้ออกมา เราก็จะมีการจัดการปัญหาขยะในบ้านเราแบบองค์รวม เพราะมันจะครอบคลุมขยะทุกประเภท แต่พอมีสถานการณ์เข้ามา ทำให้เราเห็นว่าขยะพลาสติกเป็นปัญหามาก เราก็กำลังคิดว่า ควรจะเน้นตรงไหนในกฏหมายเป็นพิเศษอีกรึเปล่า” ดร. วิจารย์กล่าว
ภาพ มาเรียม/ อส.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ถอดบทเรียน 'มาเรียม' ส่งต่อดูแล 'ยามีล'
-“ขยะพลาสติก” และ ความตาย ของ “มาเรียม”
-ย้อนดูประวัติ 'มาเรียม' ผู้หญิงแห่งท้องทะเล ผู้มีความสง่างาม
-แพทย์สุดยื้อ 'ยามีล' ทำ CPR ช่วยไม่สำเร็จ