เปิด 30 ทางแยกทั่วกรุง ตรวจจับรถ 'ฝ่าไฟแดง' ดีเดย์ 1 ก.ย.นี้
บก.จร. เพิ่มกล้อง จับภาพผู้ฝ่าฝืน "ไฟแดง" จากเดิม 23 เป็น 30 ทางแยก เก็บภาพ 24 ชม. สืบค้นส่งใบสั่ง การันตี ชัดเวอร์!
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ กองบังคับการตำรวจจราจร พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) แถลงเปิดโครงการปรับปรุงและพัฒนาระบบตรวจจับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่ หรือ Red light camera system ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรแบบอัตโนมัติ โดยจะเริ่มตรวจจับจริงในวันที่ 1 กันยายน 2562 นี้
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า โครงการปรับปรุงและพัฒนาระบบตรวจจับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่ หรือ Red light camera system ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรแบบอัตโนมัตินี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มความเข้มงวดความปลอดภัยบนถนน โดยใช้เทคโนโลยีมาใช้ปฏิบัติ และลดการเผชิญหน้า ระหว่างตำรวจ กับประชาชน
ทั้งนี้ สถิติการทดลองตรวจจับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 - 25 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร รวม 22,260 ราย เฉลี่ยมีผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟ 890 รายต่อวัน ส่วนใหญ่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ในช่วงเวลากลางวัน มากที่สุด จำนวนกว่า 15,000 ราย โดยในช่วงกลางวัน ทางแยกที่มีการฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร มากที่สุด คือ แยกรัชดา-พระราม 4 มีจำนวนถึง 3,082 ราย รองลงมา คือ แยกนรินทร ขาออก และแยกตากสิน ส่วนในเวลากลางคืน จุดที่พบการฝ่าฝืนสัญญาณไฟมากที่สุด คือ แยกรัชดา-พระราม 4 เช่นกัน รองลงมา คือ แยกอโศกเพชรบุรี และแยกนรินทร ขาออก
สำหรับระบบการตรวจจับ รถฝ่าสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่ หรือ Red light camera system ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรแบบอัตโนมัติ จะตรวจจับเฉพาะรถที่ฝ่าไฟแดง ซึ่งพ้นจากเส้นหยุดไปแล้วเต็มคัน หากรถหยุดไม่ทันเลยจากเส้นหยุดออกไปเล็กน้อย หรืออยู่ในช่วงไฟเหลือง และจอดรถล้ำจุดจอดรถจักรยานยนต์ ระบบจะไม่ออกใบสั่งให้ ทั้งนี้มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ในระบบไม่น้อยกว่า 2 เดือน โดยจะบันทึกได้ทั้งภาพนิ่ง และวิดิโอ
“ระบบดังกล่าว จะเริ่มเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ และเริ่มออกใบสั่ง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ผู้ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่กระทำผิดข้อหาฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมาตรการปรับผู้กระทำผิด เพียง 500 บาท และอาจจะถูกตัดคะแนนความประพฤติการขับขี่ด้วย ซึ่งสามารถตรวจจับรถได้ทุกประเภทที่มีป้ายทะเบียน” พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) กล่าวว่า ระบบตรวจจับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่ หรือ Red light camera system นี้พัฒนาเพิ่มเติมจากของเดิม โดยติดตั้งกล้องในจุดใหม่เพิ่มเติมอีก 7 จุด อาทิ แยกพญาไท ขาออก, แยกหน้าห้างพาราไดซ์, แยกประดิพัทธ์ ขาออก, แยกศรีนครินทร์-พัฒนาการ, แยกนรินทร์ทร ขาออก และแยกสาทร ขาออก รวมกับของเดิมแล้วจะมีทั้งหมด 30 จุด หรือ 30 ทางแยก
กล้องตรวจจับระบบใหม่ มีความคมชัดมากถึง 12 ล้านเมกกะพิกเซล และได้เพิ่มระบบอินฟาเรดติดตั้งไปกับกล้องด้วย ทำให้ระบบตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสามารถจับภาพรถที่กระทำความผิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง และทุกสภาพอากาศแม้แต่ในช่วงฝนตกหนัก หรือผู้ที่แก้ไขป้ายทะเบียน ขูดขีด พ่นสี ก็สามารถตรวจจับได้หมด
ประชาชนผู้ขับขี่รถ สามารถสังเกต ป้ายแจ้งเตือน ก่อนถึงทางแยก ที่มีการติดตั้งระบบตรวจจับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่ หรือ Red light camera system ได้ในระยะ 100 เมตร และ 50 เมตร ก่อนถึงจุดตรวจจับระบบ
สำหรับขั้นตอนการทำงานของระบบเมื่อได้ภาพรถผู้กระทำผิดแล้ว เจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลของทะเบียนรถยนต์ รุ่นรถ และสีของรถ ที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟมาตรวจสอบความถูกต้องจาก กรมการขนส่งทางบก และออกหลักฐานใบสั่ง พร้อมหลักฐานภาพถ่ายขณะกระทำผิดส่งไปยังที่อยู่ของผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ ผู้กระทำผิด หรือผู้ครองครองรถ ยังสามารถเข้าไปตรวจสอบการกระทำความผิดจนถูกออกใบสั่งได้ที่เว็บไซต์ของ กองบังคับการตำรวจจราจร www.trafficpolice.go.th โดยใส่รหัสผ่านที่ระบุในใบสั่งได้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับ ทางแยก และจุดที่มีการดำเนินโครงการระบบตรวจจับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่ หรือ Red light camera system ทั้ง 30 จุด ประกอบด้วย (1.) แยกซังฮี้, (2.) แยกพญาไท ขาเข้า, (3.) แยกพญาไท ขาออก, (4.) แยกอุรุพงษ์, (5.) แยกเหม่งจ๋าย, (6.) แยกอโศกเพชร, (7.) แยกประชานุกูล, (8.) แยกรัชดา-ลาดพร้าว, (9.) แยกร่มเกล้า, (10.) แยกโชคชัย 4 ขาเข้า, (11.) แยกโชคชัย 4 ขาออก, (12.) แยกนิด้า, (13.) แยกประเวศ, (14.) แยกโพธิ์แก้ว, (15.) แยกคลองตัน
(16.) แยกรัชดา-พระราม 4, (17.) แยกศุลกากร, (18.) แยกวิทยุ-เพลินจิต, (19.) แยกอโศก-สุขุมวิท, (20.) แยกอังรีดูนังค์, (21.) แยกตากสิน, (22.) แยกบ้านแขก, (23.) แยกหน้าห้างพาราไดซ์, (24.) แยกพาราไดซ์ ขาเข้า, (25.) แยกพาราไดซ์ ขาออก, (26.) แยกศรีนครินทร์-พัฒนาการ, (27.) แยกนรินทร ขาเข้า, (28.) แยกนรินทร ขาออก, (29.) แยกสาทร ขาเข้า และ (30.) แยกสาทร ขาออก