'เอ็นซีพี' ร้องศาลระงับประมูลแหลมฉบัง 3
“เอ็นซีพี” ร้องศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราว ระงับการดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการประมูลท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(3 กันยายน 2562) กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (NCP) ได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้พิจารณาเพิกถอนคำสั่งของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่มีต่อกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี กรณีที่กทท. และ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) มีมติยืนตัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
รวมถึงขอให้ศาลพิจารณาเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนในโครงการพิพาทในขั้นตอนต่อไปไว้จนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษา
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า ขอให้ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และ ประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พิจารณาตามหน้าที่และอำนาจโดยขอให้พิจารณาทบทวนการดำเนินการโดยพิจารณาถึงผลได้เสียที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายและระเบียบและกระทบต่อผู้เสนอราคารายอื่น หรืออาจพิจารณายกเลิกกระบวนการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน และเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคัดเลือกเอกชนอีกครั้งเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐต่อไป และให้รายงานผลการดำเนินการให้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผลการวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว จึงได้ใช้สิทธิดังกล่าวยื่นฟ้องศาลปกครอง
สำหรับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนี้ สืบเนื่องจากจากกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี ได้เข้ายื่นประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งมายังกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (NCP) ฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2562 ว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (NCP) เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ เนื่องจากในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี (NCP) มีความไม่ครบถ้วนและความไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal) ของโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F
หลังจากนั้น กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี จึงได้เข้าร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ว่า ถูกตัดสิทธิ์โดยไม่เป็นธรรม ซึ่งต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินวินัจฉัยแล้วเห็นว่าในเอกสารได้ลงนามแม้ไม่ได้อยู่ในช่อง แต่ว่าข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่าถ้าเป็นเอกสารแบบฟอร์มทางราชการต้องทำไปตามนั้น แต่อันนี้ไม่ได้เป็นแบบฟอร์มเอกสารตามราชการ
ด้วยเหตุนี้การไม่ได้ลงนามในช่อง แต่มีการลงนามในเอกสารแผ่นดังกล่าวครบถ้วนเพียงแต่ไม่ได้อยู่ในช่อง ก็ถือว่าไม่ใช่ข้อบกพร่องที่เป็นสาระสำคัญ
ประกอบกับคณะกรรมการคัดเลือกฯได้สอบถามว่าบริษัทที่เป็นกิจการร่วมค้ามีความประสงค์จะผูกพันหรือไม่กับการที่จะดำเนินโครงการนี้ บริษัท NPC จึงมีหนังสือสำทับไปว่ามีความผูกพันที่จะดำเนินโครงการนี้ทุกประการ และได้มีความเห็นว่าการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกฯไม่ให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี จึงมีมติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)กลับไปทบทวน และให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐต่อไป
ต่อมาปรากฏว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีมติยืนตัดสิทธิ์กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี โดยในวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้เชิญ การท่าเรือแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นซีพี มาประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า หลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยตามที่กล่าวข้างต้น